‘สภาพัฒน์’ เปิดรายได้ 'แรงงานไทย' ในวันที่ ‘ค่าแรง’ ยังไม่ขึ้นแซง ‘เงินเฟ้อ’

‘สภาพัฒน์’ เปิดรายได้ 'แรงงานไทย'  ในวันที่ ‘ค่าแรง’ ยังไม่ขึ้นแซง ‘เงินเฟ้อ’

ข้อมูลสถานการณ์แรงงานไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 ที่แถลงโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” จะพบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนทั้งตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 2.1% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานลดลงเหลือ 1.23% ขณะที่ชั่วโมงทำงานในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 45.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาสก่อนเพิ่มมาเป็น 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปัจจุบัน

แม้การกลับมาทำงานของแรงงานทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตรตามข้อมูลของสภาพัฒน์จะสะท้อนความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หากแต่ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานไทยในวันนี้กลับหดตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในปีนี้ทำให้เมื่อหักลบกับรายได้ที่แรงงานได้รับแล้วยังถือว่าค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงหดตัวลง  

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ ค่าจ้างแรงงาน ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว

โดยค่าจ้างแรงงานภาคเอกชน และภาพรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 13,751 และ 15,213 บาทต่อคนต่อเดือน ประเด็นที่ต้องจับตาต่อเนื่องคือเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อไทยในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 6% ทำให้ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาพรวมจึงหดตัว 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และค่าจ้างแรงงานของภาคเอกชนหดตัว 1.7%” นายดนุชากล่าว

 

ทั้งนี้แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทย ล่าสุดจะอยู่ที่ 5.55% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่ยังถือว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับสูงโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5.5 – 6.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6% และยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 2 – 3% เนื่องจากแนวโน้มของราคาพลังงาน และ อาหาร ยังไม่ได้ปรับลดลงมากนัก  

‘สภาพัฒน์’ เปิดรายได้ \'แรงงานไทย\'  ในวันที่ ‘ค่าแรง’ ยังไม่ขึ้นแซง ‘เงินเฟ้อ’

นอกจากนี้อีกกลุ่มหนึ่งของแรงงานที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยก็คือแรงงานอกระบบที่มีสัดส่วนถึง 50% หรือประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 50.05% ของแรงงานทั้งหมด

ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน มีสวัสดิการน้อยกว่าแรงงานในระบบ รวมทั้งไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้ต้องรับค่าครองชีพและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของแรงงานกลุ่มดังกล่าวพบว่ากว่าครึ่งมีการศึกษาระดับประถมศึกษา และต่ำกว่า ขณะที่ 32.6% จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น – ตอนปลาย นับว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และถือเป็นกลุ่มเปราะบางในทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้แรงงานไทยบางส่วนโดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรยังคงได้รับกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยข้อมูล การสำรวจ ณ วันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมาพบว่าภาคเกษตรกรรมของกลุ่มจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาอุทกภัยนั้นมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรมากถึง 8.9 แสนคน ที่เป็นคนจนของภาคเกษตรกรรม

เมื่อรวมผลกระทบจากอุทกภัยยังส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนี้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 20.1% ซึ่งกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนและแรงงานไทยด้วย