ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท บทบาท “สหภาพแรงงาน” คืออะไร มีดีอย่างไรต่อผู้ใช้แรงงาน
ในช่วงเร่งหาเสียงของหลายพรรคการเมืองขณะนี้ นโยบายหนึ่งที่ถูกจับตาคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และมีสหภาพแรงงานบางบริษัทเริ่มออกมาตอบรับ แต่หลายคนยังสับสนว่า “สหภาพแรงงาน” คืออะไร และมีหน้าที่อะไรกันแน่
หลังการขายนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 600” ภายในปี 2570 ของ พรรคเพื่อไทย ก็เริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้างว่าเพียงแค่ขายฝันหรือทำได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตลาดการเมืองไทยในช่วงใกล้เลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองจะเร่งออกนโยบายมาเพื่อเอาใจกลุ่มฐานเสียงของตนเอง แน่นอนว่าเรื่องของค่าแรงกลุ่มเป้าหมายคือผู้ใช้แรงงานและลูกจ้าง ที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะเป็นฐานคะแนนให้ตนในอนาคต
หลังการเปิดตัวนโยบายดังกล่าวได้ไม่นานก็เริ่มมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานออกมาขานรับ ยกตัวอย่างเช่น “สหภาพแรงงานโตโยต้า” ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ต่อวัน โดยนายปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า ระบุว่าได้คุยกับแรงงานในสหภาพและจากองค์กรอื่นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนี้และมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการน่าจะทำได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานหลายบัญชีถกเถียงกันว่า การที่สหภาพเห็นด้วยนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้แรงงานจะมีสิทธิ์ได้ค่าแรงตามที่ต้องการ เพราะไม่ใช่เจ้าของบริษัท แต่ก็มีผู้ใช้หลายคนอธิบายสหภาพแรงงานนั้นตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ
นำมาสู่คำถามที่ว่า ความจริงแล้วสหภาพแรงงานคืออะไร ผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์อะไรจากการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสหภาพแรงงานเบื้องต้นมาไว้ดังนี้
- “สหภาพแรงงาน” คืออะไร?
“สหภาพแรงงาน” อ้างอิงจากสำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน ถือเป็นองค์กร์ที่จัดตั้งขึ้นตามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกันจากการทำงาน โดยนายจ้างต้องเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเสนอความคิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. แสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลา ทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นๆ ของนายจ้างหรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการจ้างหรือการทำงาน
2. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
3. ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างด้วยกัน โดยสหภาพแรงงานต้องมีข้อบังคับ กรรมการบริหารสหภาพ และต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน เมื่อได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล
- อำนาจของ “สหภาพแรงงาน”
สำหรับสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของการจัดตั้งสหภาพแรงงานคือ อำนาจของสหภาพแรงงาน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกจ้างจะใช้ต่อรองหรือเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายจ้างเมื่อรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการทำงาน โดยมีอำนาจกำหนดไว้ดังนี้
1. เรียกร้อง เจรจา ทำความตกลง และรับทราบคำชี้ขาดหรือทำข้อตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างในกิจการของสมาชิกได้
2. จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน
3. จัดให้มีการบริการสนเทศเพื่อให้สมาชิกมาติดต่อเกี่ยวกับการจัดหางาน
4. จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารงานการทำงาน
5. จัดให้มีการบริการเกี่ยวกับการจัดสรรเงินหรือ ทรัพย์สิน เพื่อสวัสดิการของสมาชิก หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่ที่ประชุมใหญ่เห็นสมควร
6. เรียกเก็บเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกและเงินค่าบำรุงตามอัตราที่กำหนด
- การกำหนดบทบาทของสหภาพแรงงานต่อสมาชิก
1. เป็นตัวแทน เจรจา ทำความตกลง หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์
2. เป็นผู้แทนที่ดี และซื่อสัตย์ต่อสมาชิก
3. ให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงานและสามารถให้คำแนะนำแก่สมาชิกได้
4. คุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกต่อนายจ้าง
5. เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการปรึกษาหารือเพื่อปรับปรุงสวัสดิการและสหภาพการจ้าง
6. ดำเนินกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
7. เคารพกฎ ระเบียบ ของสถานประกอบกิจการ และข้อตกลง
8. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สถานประกอบการเจริญก้าวหน้า
9. แนะนำ ร่วมหารือกับนายจ้าง เพื่อปรับปรุงสถานประกอบกิจการในการในเรื่องต่างๆ
10. สร้างความเชื่อถือต่อลูกค้าของบริษัททั้งด้านคุณภาพของสินค้าและประสิทธิภาพในการทำงาน
- ยิ่ง “สหภาพแรงงาน” เข้มแข็ง ลูกจ้างยิ่งได้ประโยชน์
สำหรับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมักจะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามมา เนื่องจากสหภาพแรงงานนั้นเป็นเรื่องสากลและในต่างประเทศมีการจัดตั้งมานานหลายสิบปี เช่น สหภาพแรงงานยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 และมีสมาชิกถึง 28 ประเทศ
“สหภาพแรงงานยุโรป” หรือที่รู้จักกันในชื่อ ยุโรปสหภาพการค้าสมาพันธ์ (ETUC) มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานในฐานะเป็นตัวแทนของคนงานและสหภาพแรงงานในระดับยุโรป ถือว่าเป็นตัวแทนลูกจ้างกว่า 45 ล้านคน ทั้งทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นส่วนทางสังคมของยุโรปอีกด้วย โดยที่มีสิทธิ์เจรจาข้อตกลงอิสระและโครงการทำงานกับนายจ้างชาวยุโรป ไปจนถึงประสานนโยบายระดับชาติและระดับภาคของบริษัทในเครือในเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรอบของกระบวนการทางสถาบันของสหภาพยุโรป รวมถึงธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจของยุโรปและภาคการศึกษาของสหภาพยุโรปด้วย
- ตัวอย่างชัยชนะจากการต่อสู่ของสหภาพแรงงาน
- สหภาพแรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่มีการก่อตั้งเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ในชื่อ "สมาคมลูกจ้างผลิตรถจักรยานยนต์ สมุทรปราการ" (ไทยฮอนด้า) ทางสหภาพฯ มีการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของลูกจ้างมาแล้วหลายกรณี ตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นที่มีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับพนักงาน 10 คน โดยไม่ได้รับเงินชดเชย และขณะนั้นยังไม่มีศาลแรงงานทางสหภาพฯ ได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไตรภาคี และต้องใช้เวลาพิสูจน์ถึง 5 ปี กว่าจะออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นมีการเจรจากันระหว่างสหภาพฯ และนายจ้างอีกหลายประเด็นและผลที่ได้รับยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ให้ใช้สถานที่จัดการฝึกอบรมสมาชิกภายในสถานที่ประกอบการ ให้มีการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันในคณะทำงาน 4 ชุด ทวิภาคีเดือนละครั้ง และ ให้มีกิจกรรมสำรวจสภาพการตลาดกิจการยานยนต์ทั้งปีและต่างประเทศร่วมกันปีละครั้ง เป็นต้น
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย หลังประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้หลายสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินและปรับปรุงโครงสร้างกิจการบางส่วนรวม ซึ่งสายการบินสายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการถูกยเลิกเที่ยวบินพนักงานจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบินได้ตามปกติ ทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีประกาศหยุดบินและให้พนักงานหยุดบินชั่วคราว ซึ่งทางสหภาพฯ ก็ได้มีการเจรจากับนายจ้างว่าขอให้พนักงานได้ทำงานเหมือนเดิมแลกกับการลดเงินเดือนบางส่วน หลังจากนั้นการบินไทยจึงยกเลิกประกาศหยุดบินและประกาศให้พนักงานหยุดงาน พร้อมทั้งให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้านได้
โดยสรุปแล้วเป้าหมายของการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถยื่นข้อเสนอที่มองว่าเป็นธรรมแก่ตนได้ และมีสิทธิเสรีภาพในการทำงานโดยไม่ถูกเอาเปรียบแต่ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและไม่ทำให้นายจ้างหรือหน่วยงานเสียหายด้วย
ดังนั้นการที่สหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทยจะสนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าในอนาคตทางโตโยต้าประเทศไทยจะอนุมัติค่าแรงให้ตามที่ลูกจ้างเห็นด้วย แต่อาจจะพิจารณาให้น้อยกว่าหรือมากกว่าตามความเหมาะสม ซึ่งถ้าลูกจ้างยังรู้สึกไม่เป็นธรรมก็สามารถเจรจากับนายจ้างได้
อ้างอิงข้อมูล : สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน, สหภาพแรงงานฮอนด้า และ Hmong