ส.อ.ท. ขับเคลื่อน BCG Model ฝ่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ส.อ.ท. ขับเคลื่อน BCG Model ฝ่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ส.อ.ท. เผยโพลผู้บริหารชี้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปีหน้า เล็งใช้ BCG โมเดลรับมือวิกฤติ

ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ แรงกดดันต่อวิกฤตพลังงาน และสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง 

ล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินการค้าโลก ปี 2566 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1% เท่านั้น จากปี 2565 ที่การค้าโลกขยายตัวถึง 3.5% ซึ่งจากผลกระทบของตลาดส่งออกที่ชะลอตัวทั้งในยุโรป และสหรัฐ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 24 ในเดือนธ.ค. 2565 ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะเดินต่ออย่างไร ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน “ระดับปานกลาง” โดยมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจโลก  

ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐช่วยดูแลต้นทุนราคาพลังงานให้เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย 

ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเองก็จำเป็นจะต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (LEAN) และมีการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน 

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG Model จะเป็นนโยบายที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต โดยจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

รวมทั้งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านอุตสาหกรรมการเกษตร ช่วยเพิ่มสินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตจากโดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศ และที่สำคัญจะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศ 

ส.อ.ท. ขับเคลื่อน BCG Model ฝ่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 226 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 24 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1.  จากผลกระทบของตลาดส่งออกที่ชะลอตัวทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมในระดับใด (Single choice)

     อันดับที่ 1 : ปานกลาง 47.3%

     อันดับที่ 2 : น้อย 27.0%

     อันดับที่ 3 : มาก 25.7%

2.  ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอในเรื่องใด  (Multiple choices)

     อันดับที่ 1 : ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ 88.5%

     อันดับที่ 2 : อัตราเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักที่อยู่ในระดับสูง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 68.1% 

     อันดับที่ 3 : กำลังซื้อในบางประเทศชะลอตัว กระทบภาคการผลิตและส่งออก  54.4%

     อันดับที่ 4 : ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) 37.2%

3.  ภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างไร  (Multiple choices)

     อันดับที่ 1 : ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย (LEAN) และบริหารสต๊อกสินค้า 80.5% 

     อันดับที่ 2 : บริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมีการสำรองเงินทุนใช้ในยามฉุกเฉิน    55.8%

     อันดับที่ 3 : นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ 50.0%

     อันดับที่ 4 : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ๆ 42.9%

4.  ภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องใด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Multiple choices)

     อันดับที่ 1 : ดูแลราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ 86.3%

     อันดับที่ 2 : ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ 63.3%

     อันดับที่ 3 : ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน   50.4%

     อันดับที่ 4 : ส่งเสริมการส่งออก เปิดตลาดใหม่ๆ และเร่งเจรจาความตกลงการค้า ระหว่างประเทศ        43.4%

5.  นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐในเรื่องใดที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต (Multiple choices)

     อันดับที่ 1 : การพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG Model 64.6%

     อันดับที่ 2 : การส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) 56.6%

     อันดับที่ 3 : การยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 56.2%

     อันดับที่ 4 : การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 46.9%