'งบประมาณปี67' รับปัจจัยเศรษฐกิจฟื้น หนุนรัฐบาลเดินหน้าลดขาดดุลฯ
4หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ ปี67 3.35ล้านล้านบาทขาดดุลฯ5.93แสนล้านบาทชง ครม.สัปดาห์หน้า สศช. มองกรอบจัดทำงบฯปี67เหมาะสม ลดการขาดดุลงบฯหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวมองสมมุติฐานจีดีพีปี67โต3.8%มีความเป็นไปได้หลังการค้าโลกฟื้นตัว รมว.คลังรับการจัดทำงบฯปี67ท้าทาย
ที่ประชุม4หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย สำนักงบประมาณ ,สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) และกระทรวงการคลัง ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 วงเงิน3.35ล้านล้านบาท
โดยปรับเพิ่มขึ้นมาจากงบประมาณปี 2566ที่มีวงเงิน3.185ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น1.65แสนล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ5.93แสนล้านบาท หรือขาดดุลลดลงจากปี2566ประมาณ1.02แสนล้านบาท
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การจัดทำกรอบงบประมาณปี2567ที่กรอบวงเงิน3.35ล้านล้านบาท และลดการขาดดุลลงเหลือ5.93แสนล้านบาท ถือว่าเหมาะสมในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากโควิด-19โดยการตั้งสมมุติฐานการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี2567ไว้ที่ 3.3 – 4.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่3.8%นั้นถือว่าไม่สูงจนเกินไป
เนื่องจากปริมาณการค้าโลกใน2567จะฟื้นตัวจากปี2566โดยจะขยายตัวได้ถึง3.7%เพิ่มจากปี2566ที่การค้าโลกจะหดตัวลงเหลือ2.5%จาก4.5%ในปี2565ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปี2567จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐและลดการขาดดุลงบประมาณลงในการจัดทำงบฯปี2567ถือว่าส่งผลดีต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวเนื่องจากการจัดทำงบขาดดุลต่อเนื่องนั้นไม่เป็นผลดี รัฐบาลจึงมีการวางแผนลดการขาดดุลลง ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณในปี2567ทำให้เกิดวินัยการเงินการคลังของประเทศมากขึ้น เพราะไทยจัดทำแผนงบประมาณแบบขาดดุลเป็นจำนวนมากมาเป็นระยะเวลา2ปีที่ผ่านมา เพราะมีปัญหาเรื่องของโควิด-19ซึ่งเมื่อสถานการณ์โลกดีขึ้นแล้วการขาดดุลงบประมาณก็ต้องลดลง
“การที่เราตั้งขาดดุลงบประมาณในปริมาณสูงๆ ไปเรื่อยๆไม่ได้ เพราะจะพันไปกับหนี้สาธารณะตามไปด้วย ซึ่งจะต้องพยายามบีบหนี้สาธารณะลง และไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายส่วนการดำเนินเป้าหมายแบบสมดุลนั้น จะดำเนินการได้ในเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ2567 – 2570อยู่แล้ว”
ด้านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณในปี2567นั้นถือว่ามีความท้าทายเพราะมีทั้งการเพิ่มในส่วนของรายจ่าย และลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่รัฐบาลก็จะต้องทำให้ได้
ส่วนแผนการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น รมว.คลังกล่าวเพียงว่าบอกว่าไม่ได้คุยในวันนี้ แต่การขาดดุลจะอยู่ในกรอบของการคลังระยะปานกลาง ซึ่งไม่เกิน3%และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า จะนำกรอบวงเงินงบประมาณเสนอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่10ม.ค.2566เพื่อเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป