ชลประทาน คุมน้ำแล้งตามแผน เกษตรกรทำนาปรังไปแล้ว 54 %
กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งพื้นที่ตอนบน เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เป็นไปตามแผน ทำนาปรังไปแล้ว 5.6 ล้านไร่ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั่วประเทศ 80 % ของความจุอ่างฯ พร้อมเฝ้าระวังฝนเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้สัปดาห์หน้า
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (5 ม.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 61,150 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 37,196 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,681 ล้าน ลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 12,985 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 7,594 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,199 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) จนขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 5.601 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ
ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 4.229 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของแผนฯ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด
ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนใช้น้ำค้างทุ่งในการเพาะปลูก จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเพียงพอสนับสนุนให้เกษตรได้ใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งนี้ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง บริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบต่อเกษตรกร
พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
สำหรับตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ในช่วงวันที่ 6 – 11 มกราคม 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นั้น
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่าง ๆ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา ในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก
ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป