ประมงร้องสภาทนายฯน้ำมันรั่วฉุดปากท้อง
ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ จากกรีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล จุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท SPRC รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ จากกรีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล จุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท SPRC รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศและรายได้จากการประกอบอาชีพ โดยมี นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่อง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับรายได้จากการประกอบอาชีพ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งนี้ ยังไม่ทราบจำนวนรั่วไหลที่แน่ชัด เพราะมีการขนส่งน้ำมันดิบจากเรือถึงโรงกลั่นผ่านท่อแข็งที่มีความชำรุดทรุดโทรม ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทหายไปจากบริเวณอ่าวระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือประมงหลายประเภทต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากเรือออกไปไม่มีสัตว์น้ำให้จับ นอกจากนี้การประมงพื้นบ้านและเรือขนาดกลางที่หากินได้จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง
โดยกลุ่มชาวที่เสียหาย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มประมงบ้าน จำนวนเรือ 150 ลำ 2. กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ที่ขาดทุนจากการค้าขายสัตว์น้ำที่ซื้อต่อจากเรือประมงและขายไม่ออก จำนวน 50 คน 3. กลุ่มลูกจ้างเรือประมง จำนวน 50 คน ซึ่งทางชาวบ้านเคยเจรจากับทางบริษัทที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สำเร็จ ชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับเงินชดเชย จะได้รับเฉพาะชาวประมงที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ในส่วนของประมงพื้นบ้านจะไม่ได้รับเงินเยียวยา
โดยนายวิเชียร กล่าวว่า จะจัดตั้งกรรมการช่วยเหลือ และเจรจากับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง หากเจรจาไม่สำเร็จจะดำเนินการฟ้องร้อง ชดใช้ค่าเสียหายตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 96 และ 97 โดยสภาทนายความจะจัดทนายความที่มีความชำนาญในด้านนี้ดำเนินการต่อไป
นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ก็เคยเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วเช่นนี้มาก่อน และสภาทนายความก็ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งครั้งนี้ก็เกิดปัญหาซ้ำซาก สภาทนายความต้องทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนและอยู่ภาคใต้กฎหมายทุกประการ โดยนายสมชายมองว่ากรมเจ้าท่าเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ท่อขนส่งทางทะเล ต้องมีรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่