“กกร.” แนะเร่งหาแรงงานรับอุตฯ ท่องเที่ยว ชี้เศรษฐกิจไทยปี66 ขยายตัว 3-3.5%

“กกร.” แนะเร่งหาแรงงานรับอุตฯ ท่องเที่ยว ชี้เศรษฐกิจไทยปี66 ขยายตัว 3-3.5%

“กกร.” ชี้เศรษฐกิจฟื้นขยายตัว 3.0-3.5% เร่งหาแรงงานเสริมอุตสาหกรรมนักท่องเที่ยว ระบุนักท่องเที่ยวจีนหนุนตัวเลขสิ้นปี 20-25 ล้านคน เร่งตั้งกรอ.ด้านพลังงาน รื้อโครงสร้างค่าไฟระยะยาว ยัน 5 ข้อเสนอเดิม หวั่นรัฐบาลยุบสภาฯ เกิดเกียร์ว่างระหว่างดำเนินการ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนม.ค.2566 ว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลเรื่องปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวต่อไป

เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ อัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธ.ค.2565 อยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 ม.ค.2566 น่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20-25 ล้านคน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% การส่งออกคาดอยู่ในกรอบ 1.0-2.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%”

“กกร.” แนะเร่งหาแรงงานรับอุตฯ ท่องเที่ยว ชี้เศรษฐกิจไทยปี66 ขยายตัว 3-3.5% โดย กกร.ประเมินว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แม้ในช่วงแรกของการผ่อนคลายจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการส่งออกของจีนหดตัวลงเพิ่มเติมในระยะนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้ 5% ตามเป้าหมาย เทียบกับปีก่อนที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน

“กกร.” แนะเร่งหาแรงงานรับอุตฯ ท่องเที่ยว ชี้เศรษฐกิจไทยปี66 ขยายตัว 3-3.5% นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. ยังคงยืนยันในข้อเสนอ 5 ข้อเพื่อบรรเทาภาระค่า Ft ดังนี้ 1. ตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องผลักภาระต้นทุนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน 2. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืมและชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลังเนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดย ขอให้มีการปรับค่าFt แบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่าเพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น

4. ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองมากขึ้นโดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานและสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง4, ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์(แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้), ลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ฯและอุปกรณ์ รวมทั้งพิจารณา Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้นโดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานหรือ กรอ.ด้านพลังงาน

โดยข้อเสนอข้อที่ 5 นี้ ล่าสุด กกร. ได้ตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ โดยจะต้องวางแผนในระยะยาวให้มีความสมดุลทั้งด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันต่อไป

“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะลดค่า Ft ภาคธุรกิจเหลือหน่วยละ 5.33 บาท แต่ถือว่ายังสูงกว่าที่ต้องการให้พยุงไว้ที่หน่วยละ 4.72 บาท ดังนั้น ต้นทุนสินค้าก็นยังจะต้องปรับขึ้นระดับ 9-10% ถือเป็นระดับที่สูงอยู่ดี ซึ่งผู้ผลิตก็จะพยายามดูแลราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูงมากจนเกินไป ซึ่งความกังวนอีกอย่างคือ การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ นั้น แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่จะส่งผลถึงค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ปัจจุบันก็เกินมากพออยู่แล้ว แต่ถ้ามีในส่วนนี้มาอีกสัดส่วนต้นทุนภาระก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

“อีกความกังวลคือ หากรัฐบาลยุบสภาฯ จะทำให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาร่วมกันอาจเกินเกียร์ว่างอีก จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูในเรื่องของการแก้ปัญหาค่า Ft ระยะยาว เพราะล่าสุดโรงพยายาบลได้มีการปรับค่าบริการไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงนักธุรกิจด้วยกันเริ่มมีการชะลอและทบทวนสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากปัญหาการขึ้นค่า Ft เพราะเขามองว่าเป็นต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาคการลงทุนทั้งระบบ เพราะเรื่องพลังงานสำคัญเป็นหัวใจของการแข่งขัน ที่กระทบการผลิต และการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ และท้ายสุดจะเป็นการซ้ำเต็มเงินเฟ้อ จึงต้องแก้ปัญหาระยะสั้น กลาง ยาว จึงต้องมีการคุยกันใหม่ทั้งหมดในเรื่องของโครงสร้าง” นายเกรียงไกร กล่าว