‘ผู้ว่าบีโอเจคนใหม่’กับงานหินฟื้นเศรษฐกิจ-คุมเงินเฟ้อ
นักลงทุนในตลาดพากันจับตามองการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เพื่อดูว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ภายใต้การบริหารของ"ฮารุฮิโกะ คุโรดะ" ผู้ว่าการบีโอเจคนปัจจุบันหรือไม่ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์(22ม.ค.)"ฟูมิโอะ คิชิดะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น บอกว่าจะเสนอชื่อผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ในเดือนหน้า ถือว่าเร็วขึ้นจากก่อนหน้านี้ ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ทีวีโตเกียวว่า จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่โดยพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในเดือนเม.ย. แต่เมื่อถูกกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงเปลี่ยนเป็นเดือนก.พ. โดยพิจารณาจากกำหนดการของรัฐสภา
คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ซึ่งจะหมดวาระ 5 ปี ในวันที่ 8 เม.ย. นี้ ยังคงยึดมั่นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของบีโอเจถึงสองเท่า ขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่นต่างก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันเป็นแถว
นอกจากนี้ รองผู้ว่าการบีโอเจทั้งสองคนก็จะหมดวาระในวันที่ 19 มี.ค. นี้ ซึ่งการเสนอชื่อทั้งสามตำแหน่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งสองสภา
การประชุมเมื่อวันพุธที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบีโอเจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วง -0.5% ถึง +0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ปี2565
ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะกรอบล่าง 129 เยน วานนี้(23ม.ค.)เนื่องจากนักลงทุนเทขายเงินเยนจากมุมมองที่ว่าบีโอเจ อาจไม่คุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้
เมื่อเวลา 12.00 น.ของวานนี้ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 129.15-129.17 เยน เทียบกับ 129.55-129.65 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 128.87-128.90 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น.ของเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.
ยูโรเคลื่อนไหวที่ 1.0893-1.0894 ดอลลาร์ และ 140.68-140.72 เยน เทียบกับ 1.0850-1.0860 ดอลลาร์ และ 140.57-140.67 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 1.0840-1.0841 ดอลลาร์ และ 139.71-139.75 เยนที่ตลาดโตเกียวช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา
เมื่อครั้งประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น คิชิดะ กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ว่าการบีโอเจว่า ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้านนโยบายการเงินและมีการประสานงานระหว่างบีโอเจกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งสองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่
ภารกิจที่ท้าทายอย่างมากสำหรับคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่คือ ใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พลิกฟื้นขึ้นมาหลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มายาวนาน ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเศรษฐกิจและการเงินเป็นเรื่องที่อ่อนไหวที่บีโอเจให้ความระมัดระวังและรอบคอบมาแต่ไหนแต่ไร เพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด
บีโอเจเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนธ.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในการประชุมบีโอเจเมื่อวันที่ 19-20 เดือนธ.ค.เรียกร้องให้คณะกรรมการบีโอเจเลื่อนการแถลงมติการประชุม หลังมีสัญญาณว่าบีโอเจจะปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control - YCC) ในการประชุมครั้งนี้
รายงานการประชุม ระบุว่า ตามกำหนดการนั้น การแถลงมติการประชุมของวันที่ 20 ธ.ค.จะมีขึ้นในเวลา 10.51 น. แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลขอให้เลื่อนออกไปเป็นเวลา 11.28 น.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่จะได้ข้อสรุปและมีการแถลงในเวลา 11.54 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเลื่อนแถลงมติการประชุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปี2564
ส่วนคำถามที่ว่าใครคือคนที่น่าจะมีคุณสมบัติเหมาะสม นั่งเก้าอี้ผู้ว่าบีโอเจคนใหม่นั้น มีกระแสข่าวว่า หนึ่งในตัวเต็งคือ “มาซาโยชิ อะมามิยะ” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการบีโอเจ ทำงานเป็นลูกหม้อบีโอเจมาเป็นเวลายาวนานถึง 43 ปี เริ่มเข้าทำงานในปี2522
ขณะที่อีกคนที่ดูจะมีภาษีมากพอๆกันคือ“ฮิโรชิ นาคาโสะ” อดีตรองผู้ว่าการบีโอเจ ซึ่งเข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 2521 แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยไดวา
ส่วนผู้ที่ถูกมองว่าอาจจะเป็น “ม้ามืด” วิ่งเข้าวินในช่วงโค้งสุดท้ายคือ “ชิเกอากิ โอคาโมโตะ”อดีตผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัทยาสูบญี่ปุ่น