สารพัดปัญหารถไฟฯ ย้ายฮับ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’
เปิดสารพัดปัญหาต้องเร่งปรับปรุง ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ หลังย้ายฮับบริการรถไฟทางไกล เริ่ม 19 ม.ค.ที่ผ่านมา พบประชาชนยังสับสน จากป้ายบอกทางไม่ชัดเจน และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ
“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” กำลังจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งทางรางแห่งใหม่ของไทย หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำร่องเริ่มวันที่ 19 ม.ค.2566 ปรับเปลี่ยนต้นทางให้บริการบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รวมจำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย
- สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน
- สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน
- สายใต้ จำนวน 20 ขบวน
ขบวนรถไฟกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ประกอบด้วย
- สายตะวันออก จำนวน 22 ขบวน
- สายเหนือ จำนวน 16 ขบวน
- สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน
- สายใต้ จำนวน 4 ขบวน
- ขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 14 ขบวน
อย่างไรก็ดี หลังเปิดให้บริการ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” กรมการขนส่งทางรางได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการบริการผู้โดยสาร พบสารพัดปัญหา แบ่งออกเป็น
1.ด้านการให้ข้อมูลป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบอกทาง และเสียงประกาศ
- การประกาศภายในสถานีมีความถี่ในการประกาศไม่เหมาะสม ไม่ทันต่อสถานการณ์ และเนื้อหาบางส่วนไม่ครบถ้วน เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเดินรถ พบว่า ไม่มีการประกาศซ้ำ ไม่มีการประกาศแจ้งสาเหตุการเปลี่ยนเวลาเดินรถ ไม่มีการประกาศแจ้งเวลาเดินรถใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น
- ป้ายบอกตารางเวลาเดินรถ (จอขนาดใหญ่) บริเวณโถงทางเข้าประตู 4 มีเฉพาะข้อมูลภาษาไทย
- เจ้าหน้าที่บางคนยังไม่สามารถสื่อสารกับต่างชาติได้อย่างชัดเจน
- เสียงประกาศเบา โดยเฉพาะเวลาเข้าเทียบชานชาลาทำให้เสียงรถไฟกลบไม่ได้ยิน
- ป้ายนำทางภายในสถานีฯ ยังไม่ชัดเจน
- ป้ายบอกจุดซื้อตั๋วรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ หน้าเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร เป็นลักษณะป้ายชั่วคราว ตัวอักษรเป็นมีสีอ่อน มองเห็นไม่ชัดเจน
2. ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพกายภาพเพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกคน
- เก้าอี้พักคอยแต่ละชานชาลามีจำนวนไม่สมดุลกัน ทำให้บางจุดมีผู้คนแออัด
- ปริมาณถังขยะมีจำนวนน้อย
- จำนวนร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบริเวณที่พักคอยก่อนขึ้นชั้นชานชาลามีน้อย
- ความสว่างบริเวณที่พักคอยบางพื้นที่ค่อนข้างมืด และป้ายสัญลักษณ์ของเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์มีขนาดเล็กเกินไป ไม่เป็นที่สังเกต
3.ด้านความปลอดภัย
- บริเวณใต้ชานพักบันไดมีลักษณะขอบมุม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- บริเวณชานชาลาค่อนข้างอันตรายสำหรับผู้โดยสารบางกลุ่ม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ เพราะไม่มีกระจกหรือรั้วกั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
- เจ้าหน้าที่ รปภ. มีจำนวนน้อยทำให้ดูแลความปลอดภัยบนชานชาลาได้ไม่ทั่วถึง
- ช่องว่างระหว่างรถไฟกับชานชาลามีระยะห่างทำให้อาจจะเกิดอุบัติเหตุในการขึ้นลง
4.ด้านการจัดการและการให้บริการผู้โดยสารบริเวณจุดพักคอย
- การกั้นพื้นที่รอผู้โดยสารกับพื้นที่ตรวจตั๋วโดยสารก่อนขึ้นชานชาลาเป็นอุปกรณ์ชั่วคราว และบางส่วนกีดขวางทางเดิน
- มีการเปิดบันไดเลื่อนจากชานชาลาลงชั้นโดยสารเมื่อใช้บริการแล้วเจอที่กั้นที่ปลายทางลง ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้
- จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการตรวจบัตรโดยสารไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ
- การสื่อสารระบบการตรวจตั๋วและการขึ้นชานชาลายังไม่ชัดเจน ประชาชนยังไม่เข้าใจระบบการขึ้นขบวน ยังรอต่อแถวโดยที่ขบวนยังไม่เทียบชานชาลา
- ผู้โดยสารที่รอรถไฟไม่รับทราบข้อมูลขบวนรถ และตารางการเดินรถไฟ เนื่องจากไม่มีป้ายและจอแสดงข้อมูลตารางการเดินรถไฟบริเวณพื้นที่นั่งรอ
- ที่เข็นสัมภาระผู้โดยสารไม่เพียงพอเนื่องจากผู้โดยสารใช้และนำไปรอขบวนรถเลยใช้เป็นระยะเวลานาน
5.ด้านการให้ข้อมูลการเดินทางเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะอื่น
- มีจุด drop-off หน้าอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ด้านทิศตะวันออก เฉพาะบริเวณหัวและท้ายอาคาร ประตู 1 และประตู 4 เท่านั้น และไม่มีการติดตั้งป้ายแสดงจุด drop-off
- บริเวณจุดจอดรถประจำทาง หน้าสถานีด้านทิศตะวันออก ไม่มีป้ายระบุปลายทาง อาจทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความสับสน
- พบผู้โดยสารหลายท่านสอบถามทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดง เนื่องจากไม่ทราบว่ารถไฟชานเมืองและรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นเส้นทางเดียวกัน