กุญแจ 3 ดอก ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ปิดตายทางแก้ ‘งบประมาณปี67’

กุญแจ 3 ดอก ‘พล.อ.ประยุทธ์’  ปิดตายทางแก้ ‘งบประมาณปี67’

การจัดทำงบประมาณปี 2567 ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นการจัดทำงบประมาณในปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากสมัยของรัฐบาลปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มี.ค.ที่จะถึงนี้

และไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม หรือว่าจะยุบสภาฯก่อนการจัดทำงบประมาณในปีนี้ก็เหมือนกับการจัดทำงบประมาณไว้สำหรับรัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศที่จะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงรอยต่องบประมาณปี 2566 – 2567   

ทั้งนี้หากภายหลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่เป็นส่วนผสมของพรรคร่วมเดิม มีนายกรัฐมนตรีคนเดิม คงไม่มีคำถามเกี่ยวกับงบประมาณปี 2567 มากนัก แต่หากเป็นการพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ย่อมมีคำถามว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนแก้ไขรายละเอียดของงบประมาณได้มากน้อยแค่ไหน

กุญแจ 3 ดอก ‘พล.อ.ประยุทธ์’  ปิดตายทางแก้ ‘งบประมาณปี67’

ก่อนหน้านี้เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 สำนักงบประมาณได้จัดทำแผนรองรับการเลือกตั้ง

ซึ่งการจัดทำงบประมาณอาจมีการล่าช้าออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้จากกรอบระยะเวลาปกติ โดยได้มีการทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ไปพลางก่อน ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน และหากมีการล่าช้าออกไปก็สามารถที่จะขยายระยะเวลาในการใช้งบไปพลางก่อนออกไปได้

ส่วนการแก้ไขรายละเอียดของงบประมาณปี 2567 รัฐบาลใหม่สามารถทำได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่ารัฐบาลใหม่สามารถที่จะทบทวนรายละเอียดงบประมาณบางส่วนได้โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณที่ไม่ใช่งบประจำ แต่ะเป็นงบลงทุนที่มีอยู่ประมาณ รายจ่ายลงทุนประมาณ  6.9 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้การแก้ไขรายละเอียดงบประมาณปี 2567 จะสามารถทำได้ในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ และในเงื่อนไขของระยะเวลาการแก้ไขรายละเอียด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายนักด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อที่เป็นเหมือนกับ “กุญแจ 3 ดอก” ที่ล็อกตายการแก้ไขงบประมาณปี 2567 เอาไว้ดังนี้

กุญแจดอกที่ 1 การกำหนดการจัดทำงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนระดับชาติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนแม่บทฯระดับชาติ ซึ่งเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี  

กุญแจ 3 ดอก ‘พล.อ.ประยุทธ์’  ปิดตายทางแก้ ‘งบประมาณปี67’

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่าการกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยคำของบประมาณปี 2567 การจัดทำแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับ 13 หมุดหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญภายใต้ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล โดยกำชับทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับประเด็นตามยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ 6 ด้าน ได้แก่

1.ด้านความมั่นคง

2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การท่องเที่ยว พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐาน SMEs และเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านไปใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงการนำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2567 จำนวน 1,026 โครงการ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กุญแจดอกที่ 2 การกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ 2 ไว้ส่วนรายจ่ายงบประจำ และงบลงทุนของภาครัฐ  โดยกรอบงบประมาณปี 2567

ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอยู่ที่ในส่วนของกรอบวงเงินปี 2567 ที่ ครม.มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้อยู่ที่มีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.185 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณก่อน  หรือเพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลางของประเทศ ที่ต้องการทำให้งบประมาณไปสู่สมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

โดยในส่วนของโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประกอบไปด้วยรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% และมีหนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี

นอกจากนี้งบประมาณปี 2567 ยังกำหนดให้เป็นปีแรกของการทำงบประมาณไปสู่ความสมดุลโดยให้ตั้งงบประมาณขาดดุลไม่เกิน 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

 

กุญแจดอกที่ 3 การผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในวงเงินกว่า 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งการผูกพันงบประมาณในปี 2567 ไปจนถึงปี 2570 ในหลายรายการทำให้การแก้ไขงบประมาณต่างๆมีความยากขึ้นไปอีก 

โดยในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ได้อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ของ 14 กระทรวง 25 หน่วยงานรับงบประมาณ วงเงินรวม 3.6 แสนล้านบาทเศษ โดยไม่เกินสัดส่วน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท

โดย ครม.ให้สำนักงบประมาณหารือกับหน่วยงานรับงบประมาณในการจัดทำรายละเอียดขอจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ตามพ.ร.บ.งบประมาณเพื่อใช้เป็นกรอบรายจ่ายส่วนหนึ่งของการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณต่อไป โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบตามปฏิทินงบประมาณ 

ในการจัดทำคำของบประมาณ 2567 ได้กำหนดการเสนอขอผูกพันงบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่วงเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทที่ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาก่อนเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณ เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 25 ต.ค.2565 ว่าให้มีการเสนอขอพิจารณาเรื่องการขอผูกพันงบประมาณที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาทมายัง ครม.ก่อนที่จะเสนอขออนุมัติงบประมาณของแต่ละกระทรวง และหน่วยงานไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามขั้นตอน

โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการายงานว่ามาตรา 26 ตามพ.ร.บ.วิธีการทางงบประมาณกำหนดว่าในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการยืนคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ส่วนมาตรา 27 ระบุว่าการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย และยื่นต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด

ที่ผ่านมาการจัดทำงบประมาณในปี 2567 มีการกำหนดให้กระทรวง และหน่วยงานราชการต่างๆต้องส่งคำของบประมาณให้กับสำนักงบประมาณพิจารณาภายในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดงบประมาณระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 7 มี.ค.2566 ก่อนที่จะเสนอ ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ใช้จ่ายงบประมาณฯปี 2567 ในวันที่ 14 มี.ค.2566 ในครั้งแรกเพื่อให้ครม.เห็นชอบและนำเสนอแนวทางการปรับปรุง  ก่อนจะนำไปรับความคิดเห็นตามขั้นตอนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ก่อนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นไปตามที่ปฏิทินงบประมาณกำหนดไว้ ส่วนหากมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการยุบสภาฯก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนปฏิทินงบประมาณอีกครั้ง

 

 ในกรอบระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไปถึงการโปรเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่ไปจนถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯตามกฎหมายเพื่อเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลใหม่อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 – 3 เดือน หากมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.ตามที่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)  กำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 7 พ.ค.กว่าจะเสร็จสิ้นขบวนการทั้งหมดในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และแถลงนโยบายอาจจะต้องรอถึงเดือน ก.ค. - ส.ค.ปีนี้

...ลั่นตายด้วยกุญแจงบประมาณ 3 ดอกแบบนี้ ประกอบกับกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณที่ได้กำหนดไว้ ยากที่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะเข้ามารื้องบประมาณปี 2567 เพื่อให้ใช้ได้ตามการหาเสียงที่กำหนดไว้ ..ทางที่ดีอาจจะต้องตั้งใจเริ่มทำงบประมาณปี 2568 ที่ตามปฏิทินงบประมาณจะเริ่มต้นในเดือน ต.ค.ปีนี้