พาณิชย์รื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เปิดประตูการค้าเพิ่มโอกาสส่งออก

พาณิชย์รื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เปิดประตูการค้าเพิ่มโอกาสส่งออก

ไทย-อียู รื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอ หลังหยุดชะงักกว่า 10 ปี หวังลดอุปสรรคการค้าการลงทุน เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน คาดหากมีผลบังคับใช้ดันจีพีไทยขยายตัว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี

การรื้อฟื้นเริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ(FTA) ระหว่างไทย-อียูหรือสหภาพยุโรปถือเป็นสัญญาณที่ดีของการค้าไทยในตลาดอียูซึ่งถือเป็นตลาดหลักของไทย  ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยทั้งไทยและอียูได้แสดงเจตจำนงในการเริ่มต้นเปิดเจรจาเอฟทีเอโดยที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอฟทีเอต่อไปโดยเร็ว โดยฝ่ายไทยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จะเสนอเรื่องนี้ต่อครม.ในสัปดาห์หน้าเพื่อขอความเห็นชอบ ขณะที่รมต.การค้าของอียู จะนำผลการหารือไปดำเนินการขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ไทยและสหภาพยุโรปเริ่มการเจรจา เอฟทีเอระหว่างกันเมื่อปี 2556 และมีการประชุมเจรจาแล้วทั้งสิ้น 4 รอบ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย. 2557 แต่ด้วยสถานการณ์ในไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงทำให้การเจรจาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงไป สหภาพยุโรปจึงขอชะลอการเจรจาไว้เมื่อปี 2557และภายหลังจากที่ไทยกลับมามีการเลือกตั้งในปี 61 และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้ EU พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้นกระบวนการเจรจา เอฟทีเอ กับไทยใหม่อีกครั้ง

พาณิชย์รื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เปิดประตูการค้าเพิ่มโอกาสส่งออก

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม”อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เป็นเป้าหมายอันดับต้นในปีนี้ เพราะอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 2.9% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก โดยคาดว่า กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี จากนั้นก็จะมีผลบังคับใช้ทันที ส่วนข้อกังวลที่ไทยจะมีเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่จะกระทบต่อการเปิดเจรจานั้นคงไม่กระทบ เพราะหากครม.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ”นางอรมน กล่าว

สำหรับขอบเขตการเจรจาจะครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การคุ้มครองการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ  เป็นต้น  แม้ว่าจะการทำเอฟทีเอไทย-อียู จะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุนของไทย

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ในกรณีที่ไทยและอียูซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกันทุกรายการคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทย (GDP) ขยายตัว 1.28 % หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.05 แสนล้านบาท โดยการส่งออกจากไทยไปโลกจะสูงขึ้น 2.83%  หรือ 2.16 แสนล้านบาท และการนำเข้าจากโลกสูงขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาท

 

หากไทยทำเอฟทีเอกับอียูสำเร็จก็จะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ เวียดนาม   ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าโดยเฉพาะการลดภาษีสินค้า โดยปัจจุบันเอฟทีเออียู-เวียดนาม ที่ผลบังคับใช้ปี 2563 ส่งผลให้อียูยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้ากว่า 71 %ของสินค้าทั้งหมดจากเวียดนามในทันที สำหรับสินค้าที่เหลือรวมแล้วกว่า 99 %จะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 7 ปี ขณะที่เอฟทีเออียู-สิงคโปร์ มีผลบังคับใช้ ปี 2562  ส่งผลให้อียูยกเลิกภาษีที่เก็บกับสินค้ากว่า 80% ของสินค้าทั้งหมดจากสิงคโปร์ในทันที สำหรับสินค้าที่เหลือจะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 3-5 ปี

ขณะที่ภาคเอกชนไทยออกโรงหนุนการเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า   ทางสภาหอการค้าฯ เห็นว่าการเจรจาดังกล่าวมีความสำคัญมาก หากประสบความสำเร็จจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่ายคือ 1.หลังจากที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2558 ทำให้การค้า การลงทุนของไทยในอียูเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งหากการเจรจาครั้งนี้บรรลุข้อตกลง และประสบความสำเร็จ จะทำให้การค้า การลงทุนของทั้ง 2 ประเทศขยายตัวอย่างมาก

การนับหนึ่งรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปเกือบ10 ปี ถือเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย ซึ่งในปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 41,038.06 ล้านดอลลาร์คิดเป็นสัดส่วน 7  % ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 22,794.40 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า และนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,243.66 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์

แม้ว่า เอฟทีเอไทย-อียู จะเป็นโอกาสการค้าไทย แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังมีข้อกังวลในบางประเด็น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาและสาธารณสุข การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (UPOV 1991) การนำเข้าและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และกลไกการการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งต้องรับฟัง ดำเนินการเจรจาด้วยความรอบคอบรัดกุม และมีการหารือผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้ประเทศให้ประโยชน์และผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาเช่นกัน