‘ประยุทธ์’ ทิ้งทวนงบฯจังหวัด 4.2 หมื่นล้าน เคาะ 1,700 โครงการ บรรจุงบฯปี 67

‘ประยุทธ์’ ทิ้งทวนงบฯจังหวัด 4.2 หมื่นล้าน เคาะ 1,700 โครงการ บรรจุงบฯปี 67

“ประยุทธ์” เป็นประธานการ ประชุม ก.น.บ. เห็นชอบผลการพิจารณากลั่นกรองแผนและโครงการของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ ประจำปีงบฯ 67 รวมกว่า 1,700 โครงการ วงเงินรว 4.2 หมื่นล้าน  สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทำงานเชิงรุก ขับเคลื่อนแผนงานโครงการ ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

วันนี้ (27 ก.พ. 66)  ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.)  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมสรุปว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ

โดยผลการพิจารณากลั่นกรองแผนและโครงการของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวนรวม 1,747 โครงการ 41,903.4617 ล้านบาท

โดยเป็นงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 1,346 โครงการ 29,314.5109 ล้านบาท และงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 401 โครงการ 12,588.9508 ล้านบาท

โดยการเปลี่ยนแปลงโครงการใหม่ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 24 โครงการ 246,093,961.27 บาท แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

และ ข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค จำนวน 364 โครงการ โดยให้สำนักงบประมาณให้ความสำคัญและพิจารณาสนับสนุนงบประมาณต่อไป

‘ประยุทธ์’ ทิ้งทวนงบฯจังหวัด 4.2 หมื่นล้าน เคาะ 1,700 โครงการ บรรจุงบฯปี 67

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่โดยการจัดทำแผนงานโครงการต้องตรงกับความต้องการของพื้นที่และศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เกิดความทั่วถึง เป็นธรรม และทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีประสิทธิภาพ โปรงใส ตรวจสอบได้ มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า เหมาะสมตามความจำเป็นเร่งด่วน

รวมทั้งขอให้ฝ่ายเลขานุการ สำนักงบประมาณ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินแผนงานโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงแก้ไขการทำงานอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า ทุกภาคและทุกจังหวัดมีศักยภาพของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่

 

รวมถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และทำให้เกิดการเชื่อมโยงติดต่อกันระหว่างกันของคนในแต่ละพื้นที่และแต่ละจังหวัดให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพลวัตการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ อันจะส่งดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

นายกรัฐมนตรีย้ำคณะกรรมการ ก.น.บ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแนวใหม่ ที่มีการวางแผนในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบประสานสอดคล้องกันทุกหน่วยงาน รวมถึงการบูรณาการงบประมาณทั้งงบประมาณฟังก์ชัน งบประมาณจังหวัด ตลอดจนงบประมาณอื่น ๆ ตามนโยบายที่ได้จัดสรรลงไปในพื้นที่ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเผยแพร่สร้างการรับรู้ให้สังคมและประชาชนได้รับทราบถึงการทำงานและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานนโยบายและการปฏิบัติดังกล่าวอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและพร้อมร่วมมือกันขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต้องมีการกลั่นกรองจากพื้นที่และให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่และท้องถิ่น รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้

 

นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานเชิงรุกให้มากขึ้น และร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้บรรลุเป้าหมาย โดยการดำเนินงานต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

2.มีการบูรณาการแผนฯ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและเหมาะสมตามความจำเป็น

3.ให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม

และ 4. สื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาให้ทุกภาคส่วนและประชาชนได้รับรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกัน