พาณิชย์ เผย ธุรกิจ ‘มูเตลู’ เฟื่องฟู เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113%

พาณิชย์ เผย ธุรกิจ ‘มูเตลู’ เฟื่องฟู เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113%

พาณิชย์ เผย ความเชื่อ เสริมดวงชะตา ดัน ธุรกิจด้านความเชื่อเบียดแซงหน้าขึ้นแท่นธุรกิจดาวเด่น เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113% เผย โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด ขณะที่การพยากรณ์ดวงชะตาได้รับความนิยมสูงสุด

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 เข้าสู่ปี 2566 มูเตลู หรือความเชื่อในศาสตร์เร้นลับ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเสริมดวงและโชคชะตาในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ผู้นับถือศาสตร์มูเตลู (สายมู) เชื่อว่าการบูชาและศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังจะช่วยส่งเสริมด้านการงาน การเงิน โชคลาภ และความรัก ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจและส่งพลังด้านบวกให้ชีวิต

ผนวกกับเรื่องของความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวลและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน มีปัจจัยที่ไม่อาจคาดการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด อันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา ความเห็นต่าง รวมทั้ง การไม่สามารถปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ภาคธุรกิจสบโอกาสที่จะนำความเชื่อในมูเตลูมาใช้สร้างรายได้และผลกำไรมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงการบริหารจัดการ พบว่า มีการปรับตัวนำศาสตร์แห่งความเชื่อมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ และประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกช่วงอายุมากขึ้น รวมทั้ง ใช้ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (Influencers) หรือผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์/ความรู้สึกกับลูกค้า ส่งผลให้’ ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาด’ มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

พาณิชย์ เผย ธุรกิจ ‘มูเตลู’ เฟื่องฟู เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113%

ปี 2563 - 2565 ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น

  • ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 7.59 ล้านบาท
  • ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 81.8 %  ทุน 13.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.82 ล้านบาท หรือ 76.7 %
  • ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย เพิ่มขึ้น 4 ราย หรือ 20.0 % ทุน 27.45 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.04 ล้านบาท หรือ104.7 %

สำหรับผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ

ปี 2562

  • รายได้รวม อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท
  • สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท
  • กำไร 1.12 ล้านบาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 28.76 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 4.48 ล้านบาท หรือ 18.5 %
  • สินทรัพย์ 47.31 ล้านบาท ลดลง 2.23 ล้านบาท หรือ 4.5 % กำไร 1.52 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 0.40 ล้านบาท หรือ 35.7%

ปี 2564

  • รายได้รวม 61.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.52 ล้านบาท หรือ 113.1%
  • สินทรัพย์ 71.07 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.76 ล้านบาท หรือ 50.22%
  • ขาดทุน 1.86 ล้านบาท ลดลง 3.38 ล้านบาท หรือ 222.4%

 

ทั้งนี้ ปี 2564 มีรายได้รวมและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปี 2563 แต่มีผลประกอบการขาดทุน แสดงถึงแนวโน้มของธุรกิจอยู่ในช่วงขยายการลงทุนรองรับการเติบโตหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

ด้านการลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 98.55 ล้านบาท คิดเป็น 96.64% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากต่างชาติ 2 สัญชาติ คือ จีน มูลค่า 2.45 ล้านบาท และ ฝรั่งเศส มูลค่า 0.98 ล้านบาท

ปัจจุบัน ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 ม.ค.2566 มีจำนวน 93 ราย คิดเป็น  0.01 % ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่  857,511 ราย และมีมูลค่าทุน 101.98 ล้านบาท คิดเป็น 0.0005%  ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย 21.36 ล้านล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 46 ราย ( ) ทุนจดทะเบียน 60.33 ล้าน รองลงมา คือ ภาคกลาง 22 ราย ทุน 17.41 ล้าน ภาคตะวันออก 6 ทุน 5.90 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ราย  ทุน 5.55 ล้านบาท  

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. การพยากรณ์ (รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์) โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิบซี
  2. พระเครื่องวัตถุมงคล
  3. สีมงคล 
  4. ตัวเลขมงคล
  5. เรื่องเหนือธรรมชาติ

ส่วนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาด้านความเชื่อโชคลาง ส่วนใหญ่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ รองลงมา คือ บุคคลรอบข้าง และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อส่งเสริมการตลาดในประเทศไทยมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจ หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือหรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือและต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น