'พรรคการเมือง' แข่งนโยบายเอาใจ ‘คนแก่’ ดันเพิ่มสวัสดิการ – เงินผู้สูงอายุ

'พรรคการเมือง' แข่งนโยบายเอาใจ ‘คนแก่’  ดันเพิ่มสวัสดิการ – เงินผู้สูงอายุ

เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือน พ.ค.2566 ที่พรรคการเมืองต่างๆออกนโยบายประชานิยมที่หลากหลาย โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้แต่ละนโยบายที่ออกมาจะมีการคาดหวังคะแนนเสียงจากกลุ่มต่างๆ และพบว่า “ผู้สูงอายุ” หรือคนที่เกษียณอายุ

โดยนโยบายผู้สูงอายุของแต่ละพรรคการเมืองได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษจากพรรคการเมือง โดยแทบจะทุกพรรคมีนโยบายให้กับคนกลุ่มนี้ทั้งการเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินผู้สูงอายุให้อย่างชัดเจน

 

นโยบายผู้สูงอายุ ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง 

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ออกนโยบายด้านนี้มาชัดเจนแล้วเพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่

 

  1. พรรครวมไทยสร้างชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้ประกาศนโยบายของพรรคเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเวทีปราศรัยใหญ่ที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าในเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะปรับให้เป็น 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วยอายุ จากที่ในปัจจุบันให้เป็นขั้นบันได  600  - 1,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และ ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

 

  1. พรรคเพื่อไทย

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปิดตัวนโยบายผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากแนวความคิดของแกนนำที่มีส่วนกำหนดนโยบายพรรคอย่าง นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่านโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ รวมทั้งการเพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ

โดยพรรคเพื่อไทยเคยคิดนโยบายเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เรื่องหวยบำเหน็จ แทนที่จะเล่นหวยแล้วเงินหายไป เปลี่ยนเป็นนำเงินที่ซื้อไปฝากไว้ ลักษณะเดียวกับสลากออมสิน แต่จ่ายทุกงวด เก็บให้จนอายุ 60 ปีและจ่ายคืนมา มีเงินเหลือเก็บให้ใช้ในวัยเกษียณ เป็นต้น

 

  1. พรรคประชาธิปัตย์

เสนอนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นภาคบังคับ ข้อเสนอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานต่าง ๆ ออมเงินไว้ ควรเปิดโอกาสให้เขานำเงินตรงนี้ไปซื้อบ้าน หรือสินทรัพย์ไว้ได้ เสนอให้มีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเพิ่มไปอีก เพราะบางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง 

ปรับระบบประกันสุขภาพที่มีหลายระบบ และมาตรฐานแตกต่างกัน ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำ และใช้การรักษาสุขภาพของคนที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

 

  1. พรรคพลังประชารัฐ

พรรคได้มีการประชุมคณะกรรมการพรรคและเห็นชอบให้กำหนดนโยบายสำหรับผู้สูงอายุ โดยปรับบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นนโยบาย 3 4 5 และ 6 7 8 โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท โดยทางพรรคได้มีการชี้แจงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเตรียมใช้หาเสียงต่อไป

 

  1. พรรคก้าวไกล   

เสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับรายได้ของผู้สูงอายุให้พ้นเส้นความยากจน และเติมสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที

สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง  การสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานผู้ดูแล

จัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ (ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน) และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน) โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 2 คน

 

  1. พรรคไทยสร้างไทย

ถือเป็นพรรคการเมืองแรกๆที่ชูเรื่องการเพิ่มเบี้ยคนชรา  3,000 บาทต่อเดือน โดยในเฟสแรก จะช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอ ก่อนหน้านี้ รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ระบุ ในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้อีกแนวทางที่จะจัดทำคือเรื่องของบำนาญประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ 5 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีผู้เป็นสมาชิกแล้ว 1.1 ล้านคน หากมีการเพิ่มการออม

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่าการบำนาญประชาชน 3,000 บาท เป้าหมาย 5 ล้านคน ปัจจุบันมีสมัครเป็นเครือข่ายบำนาญประชาชนแล้วกว่า 1,100,000 คน หากสามารถให้คนเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจและภาคบังคับเพิ่มเติมได้ก็จะสามารถสร้างระบบบำนาญประชาชนในระยะยาวได้

 

  1. พรรคชาติพัฒนากล้า

มีแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจโดย มีนโยบายที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์สีเงิน”  ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ โดยพรรคจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ และมีกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้า 4 ล้านครัวเรือนในปีแรก       

 

  1. พรรคภูมิใจไทย 

มีนโยบาย เกี่ยวกับการเอาใจใส่ดูแลสวัสดิการ กองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไป เสียชีวิตได้ 1 แสนบาท และสามารถกู้ได้ 20,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำ ถือเป็นเรื่องดี จะเป็นการสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และบางคนที่ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ จะได้ต่อยอดในการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเวลาเจ็บป่วยเสียชีวิต จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

 

  1. พรรคชาติไทยพัฒนา 

ได้มีการเปิดตัวนโยบาย “WOW THAILAND” Wealth Opportunity and Welfare For All โดยการสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน” โดยหนึ่งในนั้น คือนโยบาย สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และจัดเบี้ยให้คนพิการเดือนละ 3,000 บาท