‘บอร์ดEEC’ ไม่เคาะแก้สัญญา ‘ไฮสปีดเทรน’ โครงการล่าช้า - รอรัฐบาลหน้าตัดสิน
รอรัฐบาลหน้าเคาะแก้สัญญาไฮสปีดเทรนด์เชื่อม 3 สนามบิน หลังที่ยังไม่ลงตัวเรื่องแก้สัญญาปมปีเริ่มจ่ายค่าก่อสร้างให้เอกชน โดยรัฐบาลอยากให้สร้างให้เสร็จเป็นช่วงๆก่อนแล้วค่อยจ่าย เลขาฯครม.ชี้รัฐบาลรักษาการอนุมัติแก้ไขสัญญาไม่ได้ เหตุผูกพันรัฐบาลต่อไป
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเดิมมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 2565 และกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 มีสัญญาณว่าโครงการจะล่าช้าออกไปและทำไม่ได้ตามทามไลน์ระยะเวลาที่กำหนด
เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวานนี้ (1มี.ค.) ยังไม่มีการพิจารณาร่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีพีซึ่งได้มีการเจรจาเสร็จแล้ว
โดยกลุ่มซีพีได้ขอให้ภาครัฐจ่ายเงินค่าก่อสร้างโครงการเร็วขึ้นคือในเดือนที่ 21 จากเดิมที่กำหนดให้รัฐเริ่มจ่ายค่าก่อสร้างในปีที่ 10 งวดเดียวในวงเงิน 133,475 ล้านบาทในส่วนที่ภาครัฐต้องจ่าย โดยรัฐบาลให้ รฟท.กลับไปเจรจากับเอกชนใหม่ โดยไม่รับเงื่อนไขในการก่อสร้างไปจ่ายเงินไป แต่ภาครัฐต้องการให้เอกชนมีการก่อสร้างเสร็จในบางช่วงแล้วภาครัฐทยอยจ่ายเงินให้ เช่น สร้างจากกรุงเทพฯไปถึงสถานีรถไฟความเร็วสูงที่พัทยาแล้วรัฐค่อยจ่ายเงินให้เป็นต้น
“ยอมรับว่าการเริ่มก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนด์นั้นอาจล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปีนี้ และหนังสือที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างได้การรถไฟฯก็ยังไม่ได้ออกในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากที่มีการตกลงเรื่องสัญญากันเรียบร้อยแล้ว”แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตามประเด็นในที่ประชุม กพอ.เห็นชอบในวันนี้คือเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการนี้ โดยให้ใส่เงื่อนไขเรื่องการแก้ไขสัญญาของโครงการไฮสปีดเทรนด์ได้เหมือนกับสัญญาของการพัฒนาเมืองการบิน และสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือมาบตาพุด หากมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นซึ่งจะไม่ต้องนำมาเข้าสู่ที่พิจารณาของบอร์ดนโนบายอีกหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าในขั้นตอนของการแก้ไขสัญญาและการเจรจากับเอกชนให้ดำเนินการควบคู่กันไป ในส่วนของการแก้ไขสัญญาต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพอ.และการเสนอ ครม.ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ต้องดูว่าจะสามารถที่จะเข้าสู่การประชุม ครม.เพียงส่วนเดียวคือในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีการแก้ไขให้กลุ่มซีพีสามารถผ่อนจ่ายชำระเงินได้ หรือจะเอาสัญญาในส่วนที่มีการแก้ไขของไฮสปีดเทรนด์เชื่อม 3 สนามบินมารวมกันแล้วเสนอ ครม.ครั้งเดียวซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม
ครม.รักษาการอนุมัติแก้ไขสัญญาไม่ได้
นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.)กล่าวว่ากรณีจะมีการเสนอให้ ครม.แก้ไขสัญญาโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั้นหากเป็นรัฐบาลรักษาการนั้นไม่สามารถที่จะทำได้เนื่องจากจะมีผลผูกพันต่อเนื่องไปยังรัฐบาลชุดต่อไป
ดังนั้นหากรัฐบาลปัจจุบันจะมีการพิจารณาการแก้ไขสัญญาใน ครม.ได้ก็ต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการยุบสภาฯหากดำเนินการไม่ทันก็จะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมฯว่าในการประชุมฯวันนี้ได้เร่งรัดในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและสัญญาต่างๆ โดยบางอย่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็ต้องเป็นไปตามมติความเห็นชอบของที่ประชุมฯ ที่จะต้องเห็นชอบร่วมกัน รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาหรือเป็นประเด็นที่สร้างความไม่น่าเชื่อถือ
“เรื่องสำคัญวันนี้คือเรื่องของอีอีซี ที่มีการลงทุนเกิดขึ้นมากแล้ว ทั้งการลงทุนประกอบการ บริษัทต่างๆก็มีมากแล้วในขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจึงเป็นการหารือเพื่อหาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำเนินการเพื่อให้ครบถ้วน เพราะหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจจะมีปัญหา”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม กพอ.เห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นธรรมทุกฝ่าย โดยที่ประชุมฯอนุมัติว่าให้มีการพิจารณาปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)เป็นระยะเวลา 7 งวดโดย ระบุถึงกรณีเกิดผลกระทบจากเหตุ สุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด 19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเชียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถนการณ์ฉุกเฉินจึงหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมตามแนวทางพีพีพี
ทั้งนี้ภายหลังแก้สัญญาแล้ว รฟท. ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 11,731 ล้านบาท
รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น และรฟท. ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด