‘ญี่ปุ่น’ เล็งย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย
สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ได้นำนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและความเชื่อมั่น โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ได้นำนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและความเชื่อมั่น โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น
โดยปีที่ผ่านมาผู้นำญี่ปุ่นและไทยเจรจากันหลายครั้งนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มหลายด้าน
ทั้งนี้ ด้วยนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องในการมุ่งสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับไทยในฐานะฐานการผลิตของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ออโตเมชั่น ยาและบีซีจี ด้วยจุดแข็งของไทยด้านความพร้อมโลจิสติกส์ รวมทั้งการเร่งผลักดันเรื่อง ease of doing business ซึ่งจะมุ่งไปสู่การบริการในระบบดิจิทัลมากขึ้น
สำหรับครั้งนี้เป็นการยกระดับความสัมพันธ์จากความไว้วางใจที่ยาวนาน สู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมมือกันทุกมิติ โดยให้น้ำหนักคนไทยได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ co-creation โมเดลใหม่ซึ่งจะขยายความร่วมมือไปยังทุกอุตสาหกรรม
เอกชนไทย-ญี่ปุ่น ผนึกร่วมการค้า-ลงทุน
สำหรับการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย (กกร.) ร่วมกับ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยทั้ง กกร. และ เคดันเร็น ได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมาเป็นระยะเวลานาน
สำหรับการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ เคดันเรน ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น โดยมีบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าร่วมจำนวนมาก และเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจร่วมกัน รวมทั้งผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้เห็นชอบลงนามความร่วมมือ (MOU) ประกอบด้วย
1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และแนวโน้มการลงทุนของไทยและญี่ปุ่น
2.การกำหนดทิศทางความร่วมมือทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ
3.การส่งเสริมการค้าการลงทุนทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งเสริมความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมถึงผลักดันประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อไป
โดย 2 ฝ่าย ได้ร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การหารือเชิงลึกในมีประเด็นที่ที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นหัวข้อที่สะท้อนถึงมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลายของพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันของทั้งสองประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจ BCG การบริหารจัดการพลังงานสะอาด การลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การขยายการผลิตในไทย รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการค้าระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัล