ฉายภาพผลงานรัฐบาล 'บิ๊กตู่' โครงข่ายระบบรางสะดุดอื้อ
เปิดผลงานภายใต้รัฐบาล “ประยุทธ์” พบโครงข่ายระบบรางสะดุดอื้อ รถไฟทางคู่เฟส 2 รวมระยะทางกว่า 1,479 กิโลเมตรไม่ขยับ ขณะที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินสุดอืด ส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงพลาดเป้าเข้า ครม.
Key Points
- รถไฟทางคู่เฟส 2 ไม่ได้รับการอนุมัติตลอดรัฐบาล
- ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินสุดอืดช้ากว่า 2 ปี
- ส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงพลาดเป้าเข้า ครม.
โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกลับพบว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น โครงการลงทุนด้านระบบขนส่งทางรางพลาดเป้าเกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะการลงทุนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนลดต้นทุนด้านการขนส่ง อย่างโครงข่ายรถไฟทางคู่ แต่กับพบว่าปัจจุบันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 กลับไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา
โดยหากย้อนกลับไปในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยออกมาระบุถึงนโยบายผลักดันระบบขนส่งทางราง ซึ่งรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการผลักดันเร่งด่วน โดยเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้หากพัฒนาแล้ว จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระหว่างประเทศและสิ้นสุดปลายทางที่ท่าเรือแหลมฉบังได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ยังคงค้างรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาสานต่อ ประกอบไปด้วย 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท
2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,527 ล้านบาท
3.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 62,859 ล้านบาท
4.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,294 ล้านบาท
5.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,375 ล้านบาท
6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,661 ล้านบาท
7.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,837 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งทางรางประเภทรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่ยังค้างท่ออยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 276,516 ล้านบาท สืบเนื่องจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 และออกมายอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ล่าช้าจากแผนมากว่า 2 ปี ปัจจุบันยังอยู่ขั้นตอนพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชนจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมความพร้อม 100% ในการส่งมอบพื้นที่ระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว คาดว่าหาก ครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ร.ฟ.ท.จะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ
รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ความคืบหน้าล่าสุดการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยรวม 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมก่อสร้างงานโยธาอยู่ที่ราว 17% นับเป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี
เช่นเดียวกับโครงการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงินรวม 7.4 หมื่นล้านบาท แม้จะมีความพร้อมในด้านผลศึกษา แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเสนอขออนุมัติได้ทันภายในรัฐบาลนี้ ได้แก่
- ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท
- ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
- ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
- ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) 25.9 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 47,000 ล้านบาท