จีนลงทุนทะลักนิคมอุตสาหกรรม ภูมิรัฐศาสตร์หนุนยึดเบอร์ 1 ในไทย
ทุนจีนทะลักตั้งฐานผลิตในนิคมฯ เผย ก.พ.อันดับ 1 สัดส่วน 23.68% แซงสิงคโปร์-ญี่ปุ่น "ดับบลิวเอชเอ' เชื่อเงินลงทุนไหลเข้าต่อเนื่อง จากเทรดวอร์และสัมพันธ์ที่ดีกับจีน วางกลยุทธ์ผุดแพคเกจดึงเม็ดเงินกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เทียร์วัน “อมตะ” เผยลูกค้าจีนคิดเป็น 50% ของพอร์ต
Key Points
- ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้มีบริษัทในจีนสนใจย้ายฐานการลงทุนมาอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
- กนอ.ประเมินว่าบริษัทในจีนสนใจเข้ามาลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์
- ‘ดับบลิวเอชเอ’ คาดว่าบริษัทจีนจะมีสัดส่วนลงทุนอันดับ 1 ของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอปีนี้
- ‘อมตะ’ มองสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐไม่จบลงง่าย จะเป็นแรงสนับสนุนการมาลงทุนในไทย
จากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประเทศจีนเปิดประเทศ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่จบง่าย ส่งผลให้ภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิตออกมา ซึ่งไทยเป็นอีกประเทศที่ได้รับอานิสงส์นี้ ส่งผลดีต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ปี 2566 ยอดขายที่ดินจะเติบโตสูง
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สรุปภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.2566 พบว่า ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีการลงทุนสะสม 6.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของกนอ.รวม 2.47 ล้านล้านบาท และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับเอกชน 4.38 ล้านล้านบาท
สำหรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีมูลค่า 14,767 ล้านบาท โดยสัญชาตินักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก คือ จีน 23.68% รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 12.41% ญี่ปุ่น 11.65% อินเดีย 6.39% และไต้หวัน 6.02%
นายวิริศ อัมราปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนจากประเทศจีนในปี 2566 มีแรงหนุนต่อเนื่องจากปัจจัยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนบางส่วนต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน (Exit)
นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดือน พ.ย.2565 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) เชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0
“ปีนี้เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศเชื่อว่าจะมีการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเข้มข้นในระดับหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ โดยกนอ.เตรียมต้อนรับผู้ว่าการมณฑลต่างๆ ในจีนที่จะเดินทางมาหารือกันเพื่อร่วมลงทุนทั้งในไทยและจีน พร้อมทั้งผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่จีนสนใจดึงไปลงทุน ได้แก่ เกษตร อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ไทยมีศักยภาพ”
ขณะเดียวกันช่วง 1-2 ปีข้างหน้า กนอ.จะศึกษาโมเดลการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยอาจร่วมทุนภาคเอกชนเพื่อการกระจายความเสี่ยง รวมถึงหน่วยงานรัฐของจีน ซึ่ง กนอ.เตรียมวางแผนไว้ 2-3 โครงการที่จะบุกเบิกขยายการลงทุนไปต่างประเทศ
“กนอ.เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของภาคการลงทุน สำหรับทั้งนักลงทุนไทยและจีน หากไม่มีเหตุการณ์ความผันผวนที่รุนแรงสำหรับการลงทุนในจีนจะกลับมาคึกคักหลังเปิดประเทศ โดยเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สนใจตลาดในประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ขณะที่นักลงทุนที่สนใจลงทุนไทยต้องการแสวงหาความเชื่อมั่นในการผลิตและซัพพลายเชนที่มั่นคง”
สำหรับสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมอันดับ 1 ยังเป็นญี่ปุ่น 31.25% รองลงมา คือ จีน 18.75% ตามมาด้วยนักลงทุนจากสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดียและมาเลเซีย
ดับบลิวเอชเอชี้ทุนจีนทะลัก
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการย้ายฐานทุนจากจีนเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยยังดีต่อเนื่อง ซึ่งได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนรับทราบว่าขณะนี้ทุนจีนไหลเข้าไทยมาก โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ที่จีนเปิดประเทศก็มีนักลงทุนจีนติดต่อมาซื้อที่ดินนิคมดับบลิวเอชเอมาก
“เดิมคิดว่าปีที่แล้วทุนจีนเข้ามาเยอะแล้ว แต่ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีเข้ามาเยอะกว่าปีก่อน ซึ่งได้รับลูกค้าทุกวันเชื่อว่าทิศทางทุนจีนยังคงไหลเข้ามาไทยดีต่อเนื่อง”
ทั้งนี้สาเหตุที่ทุนจีนไหลเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจำนวนมากนั้น มาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 นาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสหรัฐ มาร่วมประชุมด้วยเป็นการตอกย้ำที่จีนและไทยเป็นพี่น้องกัน จึงทำให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีใหม่ในไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทำให้ทุนจีนทะลักเข้ามาไทย
สำหรับอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศไทยจะเป็น3 กลุ่มหลัก คืออุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ,อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค (คอนซูเมอร์)
คาดยอดขายปีนี้เป็นจีน 50%
น.ส.จรีพร กล่าวว่า ปี 2566 ทุนจีนจะมีสัดส่วน 50% ของยอดขายทั้งปีที่บริษัทตั้งเป้าไว้ และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะเดิมปี2560-2561 จีนคิดเป็น 3% ของพอร์ต และตั้งแต่ปี 2562 ถึงไตรมาส 4 ปี 2565 สัดส่วนลูกค้าจากจีนอยู่ที่ 43% ทำให้พอร์ตรวมปี 2565 ลูกค้าจีนเพิ่มมาที่ 13% แต่ลูกค้าญี่ปุ่นก็กลับมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงสหรัฐและยุโรป
ทั้งนี้หากเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยรวมทุนจีนไหลเข้าไปเวียดนามมากกว่า และธุรกิจที่เข้าไปต่างจากไทยเพราะอุตสาหกรรมที่มาไทยจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ไทยมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและมีอีโคซิสเต็มแข็งแกร่งมาก และอุตสาหกรรมไอเทคก็เข้าไทยมากกว่า ส่วนอุตสาหกรรมที่เข้าไปเวียดนามเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มโลว์เอนด์ที่ใช้แรงงานมากและใช้แรงงานราคาถูก
“ทั้งไทยและเวียดนามได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากจีน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ที่เวียดนามมีทุนจีนเข้าไปลงทุนสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มโลว์เอนด์”
ไทยต้องมูฟให้เร็วดึงเงินลงทุน
สำหรับการดึงเงินลงทุนจากจีนมามากขึ้น ไทยต้องเคลื่อนตัวให้เร็วขึ้น เพราะอุตสาหกรรมที่ต้องการเพิ่ม คือ อิเล็กทรอนิกส์ไฮเอนด์ระดับเทียร์ 1 ซึ่งต้องใช้พลังดึงมาและหากทำได้จะส่งผลดีระยะยาว เพราะสงครามการค้าทำให้กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งเขาก็หาประเทศที่จะย้ายไป โดยเวียดนามต้องการดึงอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
ดังนั้นไทยต้องวางแผนกลยุทธ์ดึงอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าไทย และต้องดำเนินการเชิงรุกด้วยการถามว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เทียร์ 1 ต้องการอะไรบ้าง และออกแบบแพคเกจดึงอุตสาหกรรมนี้มาทั้งคลัสเตอร์
ทุนจีนมีสัดส่วน 50% ของพอร์ต
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่านักลงทุนต่างชาติที่มาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะตั้งแต่กลางปี 2565 ถึงปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากจีนทำให้สัดส่วนลูกค้าจีนเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากอดีตที่กลุ่มทุนจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูง
ทั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ประกอบกับไทยเป็นประเทศน่าลงทุน แม้สถานการณ์การเมืองไทยไม่นิ่งแต่เป็นประชาธิปไตย โดยธุรกิจจีนที่ซื้อที่ดินในนิคมอมตะจะเป็นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ,ธุรกิจอาหาร ,ดาต้าเซ็นเตอร์ และอีคอมเมิร์ซ
รวมทั้งคาดว่ากลุ่มทุนจากจีนจะไหลเข้ามาไทยต่อเนื่อง เพราะเทรดวอร์ระหว่างจีนกับสหรัฐยังไม่จบลงง่าย แต่เม็ดเงินลงทุนจากจีนไม่ได้เข้าไทยอย่างเดียว ซึ่งประเทศที่กลุ่มทุนจีนไหลเข้ามากสุด คือ เวียดนามเพราะมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากกว่าไทย โดยธุรกิจเข้าไปตั้งฐานผลิตในเวียดนามจะเป็นธุรกิจพลังงานทดแทน
“นอกจากกลุ่มทุนจีนที่ไหลเข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทชัดเจนแล้ว ประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น ยุโรปและสรัฐ เริ่มเข้ามามากขึ้น”
อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้นนั้น จะต้องให้สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น ค่าแรงไม่ควรที่จะสูงกว่าสถานการณ์จริง เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น