ปตท.ดึงต้นแบบ 'Schoonschip' เนเธอร์แลนด์ ลุยต่อไฟฟ้าสมาร์ทกริด
ปตท.เดินหน้าระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด ซื้อขายพลังงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ดึงต้นแบบชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ "Schoonschip" เนเธอร์แลนด์
ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล “Smart Energy Platform” สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในโครงการที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำลังทำการศึกษาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Block chain) เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงาน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ
ล่าสุด ปตท.ยังคงเดินหน้าพัฒนา Smart Energy Platform ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเดินทางไปศึกษาดูงานนำโมเดลต้นแบบ ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ หรือ “Schoonschip” ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ชุมชนที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น สร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อหมุนเวียนใช้งาน รวมถึงการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ
โดยชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip นับเป็นหนึ่งในต้นแบบของชุมชนในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนจองล่วงหน้าเพื่อต่อคิวเข้าอยู่อาศัยมากกว่า 1,000 ราย เนื่องจากชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสอดรับต่อสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน เป็นชุมชนที่มีการปรับตัวพลิกวิกฤตจากสภาพอากาศให้เป็นโอกาสของการออกแบบที่อยู่อาศัย
เนื่องจาก Schoonschip นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยที่ผ่านการออกแบบโดย Space&Matter องค์กรสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการสำรวจความต้องการของผู้อยู่อาศัยโดยตรง และออกแบบบ้านจำนวน 30 ยูนิต ให้สามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้ยูนิตละ 2 ครอบครัว รวมปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยจำนวน 46 ครอบครัว มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นราว 150 คน ซึ่งรูปแบบบ้านแต่ละหลังจะแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ บ้านลอยน้ำแต่ละหลังจะติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคารวมจำนวน 22 แผง เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในบ้าน และหากเหลือใช้ยังสร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด หากไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ก็สามารถขายเข้าระบบกริดของการไฟฟ้า และหากช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากระบบกริดได้
รวมไปถึงมีการสร้างระบบกักเก็บน้ำฝนบนหลังคาเอาไว้ใช้หมุนเวียนภายในบ้าน ส่วนน้ำประปาจะผลิตผ่านการดึงน้ำจากคลองหมุนเวียนมายังตัวเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งต่อไปยังเครื่องทำความร้อนใต้คลอง เพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำให้ร้อนหรือเย็น
ขณะที่น้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในชุมชนจะถูกส่งไปบำบัดในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานจากก๊าซชีวภาพ และธาตุอาหารสำหรับพืช หมุนเวียนกระจายกลับไปให้ชุมชนได้ใช้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้แต่ละบ้านยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะต้องปลูกต้นไม้บนหลังคา หรือทำสวนรอบบ้าน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสีเขียว เป็นการฟอกอากาศภายในชุมชน
ด้านการคมนาคมของชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip แห่งนี้ ก็นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการประหยัดพลังงาน เพราะผู้อาศัยภายในชุมชนจะต้องแบ่งปันการใช้รถยนต์ หรือยานพาหนะอื่นๆ โดยจะเป็นแนวคิดแบบส่วนรวมแบ่งปันการใช้ ซึ่งผู้ที่ต้องการเดินทางจะต้องมาจองคิวในการใช้รถยนต์ล่วงหน้า หรือหากใครจะเดินทางไปทางเดียวกันก็สามารถเดินทางไปด้วยกันได้ และยานพาหนะที่ใช้ในชุมชนก็จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้า
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เผยว่า ประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาดูงานครั้งนี้ สอดคล้องไปกับภาพรวมการดำเนินงานของ ปตท. ที่มีทิศทางธุรกิจมุ่งสู่พลังงานสะอาดและพลังงานรูปแบบใหม่มากขึ้น ซึ่งชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip นับเป็นชุมชนที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น สร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด ระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อหมุนเวียนใช้งาน รวมถึงการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ปตท.มีโครงการที่พัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล ร่วมกับ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออยู่แล้ว ดังนั้นจะนำแนวคิดในการพัฒนาชุมชนและการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริดของที่ชุมชนลอยน้ำแห่งนี้ไปต่อยอด
สำหรับความร่วมมือ “Smart Energy Platform” สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยังได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox : ERC Sandbox) จัดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โดยเป็นโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการซื้อขายไฟฟ้า รองรับโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) เพื่อขยายผลการใช้งานไปยังพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการบริหารจัดการการใช้พลังงานทางเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน