‘อุตตม’ ชูกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้าน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยดันจีดีพีโต 5%
เปิดใจ “อุตตม” ร่วมทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ วางนโยบบาย แก้หนี้ ฟื้นเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศ ดันกองทุน 3 แสนล้าน เป็นเครื่องมือ แก้หนี้ทั้งระบบ ควบคู่เพิ่มทักษะสร้างอาชีพ ชูเป้าดันจีดีพีโตปีบละ 5% ดันนโยบายสร้างผู้ประกอบการซอฟต์พาวเวอร์ 1 แสนราย สร้างรายได้ 1 ล้านล้าน
เป็นพรรคการเมืองที่รวมมือเศรษฐกิจไว้มากที่สุดของประเทศสำหรับพรรค “พลังประชารัฐ” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ที่วางสโลแกนก้าวข้ามความขัดแย้ง
โดยมือเศรษฐกิจที่เข้ามาร่วมกับพรรคมีหลายคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ รวมทั้ง “อุตตม สาวนายน” ที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาแล้วถึง 3 กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรม วันนี้กลับมาร่วมงานกลับพรรคพลังประชารัฐในตำแหน่งประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบายพรรค
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “อุตตม” ถึงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 ในครั้งนี้
เขากล่าวว่านโยบายด้านเศรษฐกิจที่พรรคได้นำเสนอให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชุดนโยบาย 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด โดยถือว่าเป็นชุดนโยบายเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ไปจนถึงนโยบายที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และพลิกโฉมประเทศ 360 องศา
โดยมาตรการ 3 เร่งด่วน แก้ปัญหา ครบทุกมิติ ได้แก่
1.การแก้หนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งเติมทุนใหม่
2.การดูแลคนไทยด้วยชุดสวัสดิการแห่งรัฐ ควบคู่การเสริมทักษะพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันโลก
และ 3.การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัย
ส่วน 7 มาตรการเศรษฐกิจเร่งรัด ได้แก่ 1. ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้
2.ยกเครื่องอุตสาหกรรมเดิม สร้างอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมวางแผนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
3.เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ เร่งรัดการพัฒนากิจกรรมทั้งเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อีอีซี ให้สมบูรณ์โดยเร็ว เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย
4. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้า และการคมนาคมของประชาชน นำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างเต็มรูปแบบ
5.พัฒนาแรงงานรองรับระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยสนับสนุนคนไทยพัฒนาและยกระดับทักษะคนไทย
6. ปฏิรูปรัฐราชการ โดยแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนไทย พร้อมสร้างระบบ One-Stop Service เพื่อลดต้นทุนและความยุ่งยากในการติดต่องานภาครัฐและสถาบันการเงิน
และ 7. ต่อต้านคอร์รัปชั่นเต็มรูปแบบ โดยยกเลิก ปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีราชการ การขออนุญาต และการประมูลภาครัฐให้โปร่งใส เพิ่มโทษการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเป็น 2 เท่า
อุตตมกล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวล่าช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนิเซีย เศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วกว่าไทย ดังนั้นเป้าหมายของพรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แบบยั่งยืนปีละ 5-6% ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้แต่ต้องมีการวางรากฐานเศรษฐกิจกันใหม่ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นให้กับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินสะสม ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย
กองทุนประชารัฐ 3 แสนล้าน เครื่องมือในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายในการจัดตั้งกองทุนประชารัฐวงเงิน 3 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในการขับเคลื่อน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยกองทุนนี้จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคทั้งเรื่องที่เป็นนโยบายเร่งด่วน และเร่งรัด ทั้ง 7 ข้อข้างต้น
“การใช้กองทุนประชารัฐในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของประชาชน คนตัวเล็ก เอสเอ็มอี และช่วยเหลือประชาชนถือว่ามีความคล่องตัวกว่า โดยกองทุนนี้จะมีขนาด 3 แสนล้านบาท โดยในปีแรกจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะทอยอยใส่เงินเข้ามาเพิ่มเติมตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่มีอยู่ เช่น เกลี่ยงบประมาณ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณที่ไม่ต่อเนื่อง เป็นการหาพื้นที่งบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่ต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณใหม่”นายอุตตมกล่าว
โดยในส่วนแรกนโยบายเร่งด่วนคือนโยบายการแก้หนี้เบ็ดเสร็จ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จจะต่างจากนโยบายการพักหนี้ของบางพรรค เนื่องจากเรามีการแก้หนี้ควบคู่กับนโยบาย “เติมทุนใหม่” โดยเป็นการเติมทุนในรูปแบบสินเชื่อพิเศษสำหรับคนตัวเล็ก วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 5% ผ่อน 7 ปี หรือคิดเป็นอัตราที่ต้องผ่อนชำระเพียงแค่ 24 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งรวมทั้งการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีด้วย
นอกจากนั้นกองทุนประชารัฐยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทอัพ โดยเข้าไปร่วมลงทุน หรือให้ทุนสนับสนุบกับสตาร์ทอัพเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาการค้าขายในรูปแบบแฟรนไชส์ ที่มีการนำเอาไอเดียร์ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ (พลังแห่งความหลงใหล) มาต่อยอดโดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดขึ้นถ้า 1 แสนราย สร้างรายได้รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท
โดยในเรื่องนี้รัฐต้องสร้างระบบให้เอื้ออำนวยของการเกิดขึ้นโดยทำเป็นแซนด์บ็อกให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ และมีคณะกรรมการดูแลแซนด์บ็อกระดับชาติให้สำหรับสตาร์ทอัพและในการสร้างพลังแห่งความหลงใหล และก่อนอื่นต้องคุยกันเลยว่าจะสร้างยุทธศาสตร์ด้านไหนในการสร้างซอต์ฟเพาเวอร์ ซึ่งอาจจะปล่อยไปตามธรรมชาติก็ได้แต่อาจจะช้า ต้องเข้าไปดูว่าพื้นที่ใดมีจุดขายด้านใดก็หยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นจุดขายของแต่ละพื้นที่
ขณะเดียวกันพรรคมีนโยบายจะสร้างเศรษฐกิจย่านใหม่ทั่วประเทศ โดยจัดงบประมาณสนับสนุนย่านละ 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกิดทำเลค้าขายใหม่ๆ เกิดการกระจายรายได้ ในวงกว้าง ตัวอย่างพื้นที่ จะส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามเอกลักษณ์แต่ละเขตเพื่อให้มีจุดขายที่แตกต่างกัน
สำหรับเรื่องของการพัฒนาทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพให้กับคนในพื้นที่ ชุมชนพรรคมีนโยบายสนับสนุนให้มีการตั้งศูนย์เครือข่ายพัฒนาประชารัฐทั่วประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละศูนย์ โดยมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และการตลาดเข้ามาช่วยด้วย ที่จะสามารถแนะนำการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ ส่งเสริมการตลาด และมีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นเกี่ยวกับการฝึกอาชีพที่อยู่ศูนย์นั้นๆเพื่อให้เข้าถึงได้ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับคนในชุมชนฐานราก
แจงจำเป็นเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท
สำหรับการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่มีความสำคัญและ ถือเป็นการดูแลสังคม เพราะหากเราไม่มีนโยบายแบบนี้ในอนาคตจะมีปัญหาสังคมตามมาแน่นอน ดังนั้นสวัสดิการประชารัฐเป็นมิติการดูแลให้ความคุ้มครองด้านสังคม เพื่อลดความเหลือมล้ำโดยเริ่มจากกลุ่มเปราะบาง แต่อีกมิติคือการพัฒนาคนไปพร้อมๆ กัน
สำหรับในเรื่องนโยบายในส่วนของการพลิกฟื้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อไม่ปล่อยให้ประเทศไทยพลาดโอกาสการดึงดูดการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งในสถานการณ์โลกในขณะนี้เงินยังหมุนมาในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องจากมีความขัดแย้งกันในหลายภูมิภาค และประเทศไทยเราก็อยู่ในจุดที่น่าสนใจที่จะลงทุน โดยพรรคมีนโยบายในการผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมไฮเทค การจ้างงานในสาขาที่ตลาดมีความต้องการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อีอีซีไปถึงภาคอีสานโดยใช้รถไฟทางคู่เส้นใหม่อู่ตะเภา – บึงกาฬ ซึ่งจะกระจายความเจริญจากอีอีซีไปถึงพื้นที่ภาคอีสานได้
นายอุตตมยังกล่าวถึงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ ซึ่งจะช่วยทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนที่เป็นรายจ่ายด้านภาษี โดยพรรคมีนโยบายไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรมดาสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาท ถือว่าเป็นการสนับสนุนมนุษย์เงินเดือน
ส่วนภาษีนิติบุคคลอาจจะมีการทบทวนมาตรการการลดหย่อนภาษีบางรายการ เช่น การลดย่อนมาทบทวนใหม่ อะไรที่ไม่จำเป็น และขยายฐานภาษีไปพร้อมๆกัน จากการเติมทุนให้กับเอสเอ็มอี มีเงื่อนไขว่าต้องเข้ามาในระบบให้ถูกต้อง
ส่วนภาษีใหม่สำหรับกลุ่มที่ค้าออนไลน์ โดยจัดเก็บบริษัทต่างประเทศซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแต่ต้องทำระบบจัดเก็บให้มีความครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีภาษีคาร์บอนที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่มุ่งไปในแนวทางการลดโลกร้อน และลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคต