'พลังงาน' จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย ลุ้นมีผลปรับลดราคา 'น้ำมันดีเซล' รอบ5

'พลังงาน' จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย ลุ้นมีผลปรับลดราคา 'น้ำมันดีเซล' รอบ5

จับตา 'พลังงาน' ลดราคา 'น้ำมันดีเซล' รอบ 5 ปัจจัยเฟดเคาะปรับอัตราดอกเบี้ย-ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนลดลง   ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบ 85,586 ล้านบาท คาดเงินกู้ก้อนใหม่ 2 หมื่นล้าน เข้าบัญชีภายในเดือนพ.ค. 2566

น้ำมันดีเซล มีสัดส่วนผู้ใช้ที่สูงมากหากราคาปรับเพิ่มขึ้นจะกระทบในวงกว้างทั้งภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคโดยรวม ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงมีแผนดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้มีระดับราคาที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565 – มี.ค. 2566) อยู่ในเกณฑ์ดี กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยในช่วงต้นปีงบประมาณฯ ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเดือนพ.ย. 2566 ที่ 130,671 ล้านบาท ได้ทยอยปรับลดลงล่าสุด 23 เม.ย. 2566 ติดลบเหลือ 85,586 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยรายเดือนเฉลี่ยลดลง จากช่วงต้นปีงบประมาณเดือนต.ค. 2565 อยู่ที่ 91.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดมาเหลือ 78.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมี.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกถือว่าใกล้เคียงกับหลายสำนักที่ได้ประมาณการ โดยยังมีความผันผวนมีขึ้นและลง โดยเทรนด์ราคาแต่ละสัปดาห์มีขึ้นลงระดับไม่เกิน 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือว่าอยูในมิติที่ดี

นอกจากนี้ ภายหลังกระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมยอดเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ทำให้กู้เงินก้อนแรกมาแล้ว 30,000 ล้านบาท และเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง กองทุนน้ำมันฯ เริ่มเรียกเก็บเงินเข้าและมีสภาพคล่องมากขึ้น จนสามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไป 4 ครั้ง ๆ ละ 0.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปัจจุบันอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ดังนั้น สกนช. จะขอรอดูนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 2 พ.ค. 2566 นี้ว่าจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นที่ 0.25% หรือไม่ เพราะหากประกาศขึ้น คาดว่าการใช้น้ำมันจะลดลง ราคาตลาดโลกก็จะปรับลดลง ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อาจจะพิจารณาลดราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง

น้ำมันดีเซล

ดูทิศทางราคาน้ำมันก่อนกู้ต่อ

“จากการที่กระทรวงการคลังค้ำเงินกู้ยืมจำนวน 1.5 แสนล้านบาท โดยบรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ได้ดำเนินการกู้ยืมไปแล้ว 30,000 ล้านบาท และในเดือนเม.ย. 2566 จะทำการกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 60,000 ล้านบาท จะทยอยทำการกู้ยืมเงินตามสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ส่วนเงินกู้ที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาทนั้น ยังไม่ได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจะต้องดูทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกและสถานะกองทุนน้ำมันฯ อีกครั้ง แต่หากจะกู้เพิ่มจะต้องขออนุมัติภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 นี้เท่านั้น”

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น แต่ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันยังติดลบอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับความผันผวนของราคาพลังงานตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มโอเปกพลัสที่ลดกำลังการผลิต การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความผันผวนของเงินดอลลาร์ การเปิดประเทศของจีน และความขัดแย้งจากประเทศและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนของฝ่ายรัสเซียและยูเครน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเฝ้าติดตาม และคงต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำมาชำระหนี้ ซึ่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะต้องอยู่ในราคาที่เหมาะสมไม่เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจนมากเกินไป ซึ่งสกนช. จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปเช่นกัน

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 23 เม.ย.2566 กองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 85,586 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 38,749 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,837 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า วงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เป็นวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด อีกทั้ง มาตรการลดภาษีน้ำมันลิตรละ 5 บาทจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เก็บเงินเข้ากองทุนจากบัญชีน้ำมันดีเซลไหลเข้ากองทุนลิตรละ 5.74 บาท เมื่อรวมกับน้ำมันประเภทอื่น ๆ อยู่ที่วันละ 473.77 ล้านบาท หรือเดือนละ 12,983 ล้านบาท ส่วนบัญชีแอลพีจีมีการเก็บเงินเข้าบัญชีวันละ 5.32 วัน เฉลี่ยเดือนละ 160 ล้านบาท ในขณะที่ยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับการลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 18 บาท ตามนโยบายพรรคการเมืองนั้น หากใช้วิธีไม่เก็บภาษีน้ำมันเลยนั้นทำได้ แต่ประเทศจะสูญเสียเงินมหาศาล ซึ่งต้องเตรียมข้อมูลและราคาที่นักการเมืองกำลังแข่งขัน โดย สกนช. ทำในหลักการณ์ภายใต้พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งยังไม่เห็นแนวทางของพรรคการเมืองว่าทำวิธีไหนถึงได้ราคาถูก อีกทั้ง การกู้เงินของสกนช. มีแผนใช้คืน จึงต้องเดินตามให้เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลัง การจะลดลงเท่าไหร่ได้อีกก็ต้องให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ช่วยตัดสินใจ ดังนั้น การลดลง 18 บาทต่อลิตร จึงต้องมาดูตามพ.ร.บ.ว่าสอดคล้องและทำได้หรือไม่