เปิดใจ ‘คณิศ แสงสุพรรณ’ ร่วมงาน พปชร. ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้
“คณิศ” เล็งใช้ “อีอีซีโมเดล” สร้างเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ จับมือ “อันวาร์ อิมราฮิม” ดันบิ๊กโปรเจค2 ประเทศ สร้างพื้นที่เศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่ประชาชน สร้างงาน-ความมั่นคง ผ่านสะพานเศรษฐกิจ 6 โครงการหลัก โครงสร้างพื้นฐาน ท่องเที่ยว สร้างโมเดลเพิ่มรายได้ภาคใต้
ในช่วงที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัว “คณิศ แสงสุพรรณ” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และอดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ.มาร่วมเป็นทีมนโยบายของพรรค
“คณิศ” มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้นในสมัยรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” รวมทั้งเป็นกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งมีผลเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 หลังจากที่ตกลงมาร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ
“คณิศ” เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองครั้งนี้ว่า หลังจากที่ได้ทำงานในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอีอีซี เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว พบว่ายังมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ยังมีปัญหาเรื่องของความยากจน และประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยมาก
“มองว่าแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ในอีอีซีนั้นสามารถนำเอาไปพัฒนาพื้นที่อื่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ดึงการลงทุนและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้ ซึ่งพื้นที่หนึ่งที่สามารถนำแนวทางนี้ไปพัฒนาได้คือพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกับมาเลเซียที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของมาเลเซียที่ติดกับประเทศไทย”
ความร่วมมือในส่วนนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มีการหารือ “อันวาร์ อิมราฮิม” นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางมายังกรุงเทพฯ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะนำเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ และนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วมกันที่ได้มีการศึกษาร่วมกันในเบื้องต้นจนเป็นที่มาของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้
ทั้งนี้ได้นำเสนอให้ พล.อ.ประวิตร รับทราบ และได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะมีการผลักดันทันทีภายหลังการเลือกตั้ง หากพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับโครงการนี้จะเป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซียในการจัดทำ “แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน” โดยในฝั่งไทยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ส่วนในมาเลเซียการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอาจเป็น 5 จังหวัดทางตอนเหนือของมาเลเซียหรือเป็นจังหวัดที่มาเลเซียเห็นว่ามีความเหมาะสม โดยจะมีการจัดทำ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นมาเหมือนกับที่ได้มีการขับเคลื่อนพื้นที่อีอีซีมาก่อนหน้านี้
6 โครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้
ทั้งนี้เขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้ จะมีโครงการ และอุตสาหกรรมใหม่ 6 โครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่
1.โครงการยกระดับฐานรายได้เกษตรกร ได้แก่ สนับสนุน การเกษตรที่มีความหลากหลาย ยาง ปาล์ม ผลไม้ อาหารทะเล ยกรายได้เกษตรกรด้วยการแปรรูป คุณภาพใช้ทคโนโลยีใหม่ สู่ตลาดโลก
2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวนำการเพิ่มรายได้ โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากความสวยงามของชายหาด 200 กิโลเมตร สังคมพหุวัฒนธรรม ตากใบโมเดลและการพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งอันดามัน โดยจะส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษท่องเที่ยวอันดามัน สตูลโมเดล เพื่อดึงโครงข่ายเรือและเครื่องบินท่องเที่ยว
3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ มอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมกับท่าเรือสงขลา ปากบารา และปีนัง
4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ยา โลจิสติกส์ และศูนย์กลางอาหารระดับนานาชาติ
5.ขยายความร่วมมือด้านพลังงาน ร่วมลงทุนโรงงานไฟฟ้าในมาเลเซีย และส่งไฟฟ้าเข้าไทยเพื่อใช้รองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่
6.ใช้ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารหลักของเขตพัฒนาพิเศษ โดยให้ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารหลักที่ให้สินเชื่อกับประชาชนและโครงการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้
สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ มุ่งหวังให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะมีการจัดทำแผนเพื่อเชื่อมโยงเขตพิเศษทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน โดยประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่มีความมุ่งหวังจะทำให้ประชาชน 8 ล้านคนในพื้นที่ 14 จังหวัดชายแดนใต้ มีงานทำ มีรายได้สูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“พล.อ.ประวิตร เห็นด้วยกับโครงการนี้และรับเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการอาศัยความเป็นผู้นำที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งของพี่ป้อม ช่วยก้าวความขัดแย้งทั้งเรื่องการระหว่างประเทศ สร้างความปรองดอง และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ"
คณิศกล่าวด้วยว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสจะผลักดันให้เกิดรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยความร่วมมือระหว่างสองประเทศคือไทยและมาเลเซีย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียก็เห็นด้วยแล้วพร้อมส่งเสริมโครงการนี้เช่นกัน