‘สถาพัฒน์’ห่วงเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออก แนะรัฐบาลใหม่เร่งหาตลาด - เจรจาการค้า

‘สถาพัฒน์’ห่วงเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออก  แนะรัฐบาลใหม่เร่งหาตลาด - เจรจาการค้า

สศช.คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้โต 2.7% ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ส่วนปริมาณการค้าโลกลดเหลือ 2.1% เหตุคู่ค้าไทยรายสำคัญเศรษฐกิจโตต่ำ กดดันส่งออกไทยจ่อติดลบ แนะรัฐบาลใหม่เตรียมแนวทางขยายตลาด ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า เดินหน้าเจรจาการค้า เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยมากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีใน 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.4%  

ทั้งนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวลงมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่ คงเผชิญกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายข้อไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันทางด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและการค้าโลก

โดย สศช.คาดว่าปริมารณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งการทีปริมาณการค้าโลกชะลอลงจากปีที่แล้วจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดย สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวประมาณ 1% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกขยายตัวได้ 4.2%

โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากในปีที่ผ่านมา หรืออยู่ในระหว่างฟื้นตัวกลับมาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ สหรัฐฯที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 0.9% ขยายตัวลดลงจากปี 2565 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 2.1%

‘สถาพัฒน์’ห่วงเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออก  แนะรัฐบาลใหม่เร่งหาตลาด - เจรจาการค้า ส่วนประเทศในกลุ่มยูโรโซนคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 0.5% เท่านั้น ลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% ส่วนจีนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 4.9% ขยายตัวเพิ่มจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1%

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง รวมทั้งปริมาณการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยที่มีการติดลบต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้แก้ไขปัญหาของภาคการส่งออกของไทยถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง

โดยสศช.ได้บรรจุประเด็นนี้ไว้ในประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลด้วยว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับ การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง

โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเชียน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้สามารถส่งออกนำเข้าสินค้าได้ง่ายขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้า  และทำให้การค้าชายแดนมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นได้

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ควรเร่งเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจร๊จากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ควบคู่ไปกับการศึกษามาตรการกีดกันทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีของตลาดคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเตรียมการและนำไปสู่การหาแนวทางเจรจาต่อรองต่อไป

 

นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตร้ อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการและข้อกำหนดของประเทศ

ผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สินค้าส่งออกของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว