ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

ในฐานะแฟนคลับของทีมลิเวอร์พูลในอังกฤษ ช่วง 4 – 5 ปีหลัง ลิเวอร์พูลยืนอยู่บนจุดสูงสุดทั้งในระดับประเทศ ยุโรป และระดับโลก กวาดถ้วยรางวัลมากมายจนแทบไม่มีที่วาง แต่ความสุดยอดนั้นไม่ได้อยู่ถาวรตลอดไป

ลิเวอร์พูลเข้าสู่ช่วงเวลาตกต่ำในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาลนี้ ดูไปดูมาก็เหมือนกับเศรษฐกิจไทยอยู่พอสมควร

เอาลิเวอร์พูลก่อน ย้อนไปราว ๆ ปี ค.ศ. 2018 – 2020 ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่มีจุดแข็งอย่างน้อย 5 ข้อ คือ

1. มีผู้จัดการทีมที่ได้รับคำชมในเวลานั้นว่าเก่งที่สุดในโลก คือ เจอร์เก้น คล็อปป์ ชาวเยอรมัน 2. มีกองหน้า 3 ประสานที่คมที่สุดในโลก หรือ SFM ได้แก่ ซาลาห์ (อียปต์) ฟีร์มิโน (บราซิล) และมาเน่ (เซนิกัล)

3. มีปีกตัวรุกที่จี๊ดจ๊าดทั้งขวาและซ้าย เติมเกมรุกได้ดีที่สุดในโลก ทำแอสซิสเป็นว่าเล่น คือ เทรนด์ (อังกฤษ) และโรเบิร์ตสัน (สก็อตแลนด์)

4. มีกองหลังและนายประตูที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก อย่างฟาน ไดจ์ (ฮอลลแลนด์) และเบ็คเกอร์ (บราซิล)

และที่สำคัญ 5. อายุเฉลี่ยของทีมน้อย ประมาณ 25 – 27 ปีเท่านั้น พละกำลังในการขับเคลื่อนเกมส์เหลือเฟือ สามารถเล่นแบบเพลสซิ่ง กดดันตั้งแต่หน้าประตูฝ่ายตรงกันข้ามได้ตลอด 90 นาที

ทั้งหมดนี้คือจุดแข็งของทีมเครื่องจักรสีแดงที่ส่งลิเวอร์พูลทุบบาร์เซโลนาขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของโลกมาแล้ว

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

หลังจากปี ค.ศ. 2020 – ปัจจุบัน ลิเวอร์พูลเข้าสู่ช่วงโรยรา นักเตะหลายคนอายุมากขึ้น บาดเจ็บง่ายขึ้น เจ็บแล้วฟื้นตัวได้ช้า และทั้งทีมก็ผ่านจุดสูงสุดของโลกมาแล้ว แต่ก็ยังใช้ความเก๋าเกมคว้าถ้วยมาได้บ้าง แต่ก็ถ้วยภายในประเทศเท่านั้น

ต้นฤดูกาล ค.ศ. 2023 เห็นได้ชัดว่า ทุกคนฟอร์มตกหมด มีเพียงซาลาห์ซึ่งเป็นกองหน้า และเบ็คเกอร์ซึ่งเป็นนายประตูเท่านั้นที่พอเล่นได้แต่ก็ไม่ดีเหมือนเดิม จะหวังพึ่งแค่ 2 คนนี้ไม่ได้แล้ว ปัญหานี้

ลิเวอร์พูลแก้โดยการ 1. ซื้อตัวนักเตะใหม่ ๆ เข้าทีม แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการซื้อนักเตะ จึงไม่สามารถซื้อนักแต่เบอร์ต้น ๆ ของโลกได้ ทำได้แค่เสริมจุดที่เป็นปัญหา

ได้แก่ ซื้อโจต้า (โปรตุเกส) มาเติมกองหน้าไว้เปลี่ยนตัวกับ 3 ประสาน SFM ซื้อโกนาเต้ (ฝรั่งเศส) มาเติมหลังช่วยฟาน ไดจ์ ที่เริ่มแก่และช้ากว่าแต่ก่อน

ซื้อติอาโก้ (สเปน) มาปั้นเกมแดนกลางแทนที่เฮนเดอร์สัน (อังกฤษ) มิลเนอร์ (อังกฤษ) และฟาบินโญ่ (บราซิล) ที่แก่และเชื่องช้าลง ซื้อดิอาส (โคลัมเบีย) นูญเญส (อุรุกวัย) และกัคโป (ฮอลแลนด์) มาเสริมกองหน้าที่เสียมาเน่ไป

ส่วนโม ซาลาห์ และฟีร์มิโน่ ที่อายุมากขึ้น แม้ลิเวอร์พูลจะเป็นทีมชั้นนำของโลก แต่ไม่ได้มีหน้าตักมหาศาลเหมือนทีมอื่น

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

ฉะนั้น ในแต่ละปีการซื้อนักเตะจึงมีข้อจำกัด ต้องใช้อย่างประหยัดตามมติของบอร์ดบริหาร บางทีอยากได้นักเตะดี ๆ แต่ค่าตัวแพง ก็หันไปซื้อตัวอื่นที่ถูกกว่า แต่เลือกเฟ้นที่คุณภาพและสามารถพัฒนาในระยะยาวได้แทน

2. เอาเด็กปั้นหรือเด็กอายุน้อยของสโมสรขึ้นมาแทน เช่น โจนส์ (อังกฤษ) เอลเลียตต์ (อังกฤษ) ไบเซติช (สเปน) และ 3. กล้าปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่ออนาคตของทีม ในฤดูกาลปัจจุบัน ค.ศ. 2023 ครึ่งแรกของฟดูกาล

ลิเวอร์พูลเจอปัญหาตัวหลัก ๆ เก๋า ๆ ของทีมบาดเจ็บไปเกือบ 10 คน ทำให้หงส์กลายเป็นเป็ด คล็อปป์จึงลองอะไรใหม่ ๆ โดยการโยกเทรนด์จากแบ๊คขวา ขึ้นไปเป็นกองกลาง อาศัยจุดเด่นในเรื่องการโยนบอลที่แม่นยำให้กองหน้าเข้าทำประตู

ทำให้เมื่อนักเตะที่ได้รับบาดเจ็บหายกลับมาเล่นได้ กองหลังแน่น กองกลางเวอร์ชันใหม่ กองหน้ากลับมาจี๊ดจ๊าด แถมมีความเร็ว มีพลังหนุ่ม ทำให้ครึ่งหลังของฤดูกาลลิเวอร์พูลไม่แพ้ใครมาแล้ว 6 นัดติดต่อกัน

นี่คือการวิเคราะห์ปัญหาของทีมและการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีตามเป้าที่ควรจะเป็น

ฉะนั้น สภาพของลิเวอร์พูลขณะนี้ จึงไม่ได้แตกต่างกับสภาพของเศรษฐกิจไทยมากนัก คือ ลิเวอร์พูลและไทยมียุคแห่งความรุ่งโรจน์และตกต่ำที่ต้องถอดบทเรียน

  • ลิเวอร์พูลและไทยเคยถูกปรามาสว่ากลายร่างจากหงส์เป็นเป็ด เสือเป็นแมว
  • ลิเวอร์พูลและไทยต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ได้อ่อนแอเหมือนแต่ก่อน
  • ลิเวอร์พูลและไทยประสบปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
  • ลิเวอร์พูลและไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ต้องปรับเปลี่ยนและปฏิรูป
  • ลิเวอร์พูลและไทยมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่ต้องจัดสรรและใช้อย่างมีวินัย
  • ลิเวอร์พูลและไทยต้องการความสมดุลในการขับเคลื่อนในระยะยาว
  • ลิเวอร์พูลและไทยเต็มไปด้วยคนสูงอายุมากขึ้น
  • ลิเวอร์พูลและไทยต้องการคนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสู่อนาคตและสู้กับคู่แข่งได้

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

แต่ก็มีแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาบางอย่างที่เราต้องตั้งเป็นประเด็นเอาไว้ เช่น เราติดยึดอยู่กับความสำเร็จในอดีต ไม่ได้นำความล้มเหลวมาถอดบทเรียนอย่างจริงจังเพื่อทำให้ดีขึ้น

เราแก้ปัญหาระยะสั้นซ้ำไปซ้ำมา อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้วางแผนระยะยาว เราปล่อยให้ปัญหาระยะยาวเป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปมากกว่าที่จะแก้ให้เสร็จในรุ่นเรา

เรามีงบประมาณจำกัดและกระจายไปไม่ถึงคนจนและท้องถิ่นยากจน เราช่วยผู้สูงอายุด้วยการให้เงินไปใช้ในการบรรเทาภาระค่าครองชีพมากกว่าการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เขาเหล่านั้น

เราบอกจะเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศ แต่ลืมคิดถึงวิธีการที่จะจูงใจให้แรงงานเหล่านั้นขยัน อยากเพิ่มทักษะและรายได้

ผมลองเอาปัญหาและวิธีการแก้ปัญหามาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยได้ 5 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เราไม่ควรพอใจกับการเติบโตแบบคาบเส้นค่าเฉลี่ยในอดีต หากไม่นับปีที่เจอโควิด-19 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 – 3.5 ต่อปี เท่านั้น ซึ่งไม่มีทางจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ภายใน 10 – 15 ปี

และไม่มีทางที่เราจะมีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน TOP 20 ของโลก เว้นเสียแต่เราต้องตั้งเป้าให้สูงกว่านั้นและเร็วกว่านั้น

สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำคือ การตั้งเป้าหมายอย่างกล้าหาญว่าทีมจะชิงพื้นที่ TOP 4 เพื่อไปเล่นถ้วยยุโรปให้ได้ และฤดูกาลหน้าจะต้องสร้างทีมให้กลับมามีลุ้นทุกถ้วยที่ลงแข่ง

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

2. เราไม่ลงทุนเพื่อประเทศมานานมากแล้ว ดูจากอะไร ดูจากบทบาทของการลงทุนที่สะท้อนผ่านสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP อยู่ในระดับต่ำไม่เคยเกินร้อยละ 25 ทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 จนถึงปี 2022

สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำคือ ลงทุนซื้อนักเตะใหม่ ๆ เข้าทีมทุกปี เน้นอายุน้อย ราคาไม่สูงมาก เพื่อสร้างศักยภาพของทีมในระยะยาว

3. งบประมาณมีจำกัด ต้องจัดลำดับความสำคัญและเอาทิศทางประเทศเป็นตัวตั้ง ในแต่ละปีรัฐบาลซึ่งเป็นรัฐบาลผสมมาจากหลายพรรค แต่ละพรรคก็มีสิ่งที่ต้องทำเพราะหาเสียงไว้แล้ว รวม ๆ แล้วอาจจะใช้เงินเพิ่มถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่มีทางทำทั้งหมดได้ในปีเดียว

สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำคือ ต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ เช่น ไปซื้อนักเตะในตำแหน่งที่เป็นปัญหาก่อน ค่อย ๆ ซ่อมเสริมทีมให้กลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม

4. ประเทศไทยมี 77 จังหวัด หวังเพิ่งการลงทุนในไม่กี่จังหวัด การท่องเที่ยวในไม่กี่จังหวัด คงไม่ได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นคำว่า การเติบโตอย่างทั่วถึงก็เป็นเพียงแค่จินตนาการ ต้องพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ และแข่งขันกับประเทศที่เจริญกว่าเรา

สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำคือ สร้างความสมดุลและให้ความสำคัญกับทั้ง 11 ตำแหน่ง ทุกคนต้องมีส่วนขับเคลื่อนเกม ไม่ฝากภาระให้นักเตะ 2 – 3 คน ต้องคอยแบกทีมตลอดฤดูกาล

5. ประชากรสูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูงอายุของไทยกำลังจะแต่ร้อยละ 20 เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า ไม่มีแรงงานขับเคลื่อน ไม่มีคนจ่ายภาษี Upskill-Reskill ก็ยาก เพราะผลการสำรวจพบว่า แรงงานร้อยละ 90 ไม่คิดที่จะเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำคือ มุ่งสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้นักเตะเดิม ทำให้เล่นได้หลายตำแหน่ง และผลิตนักเตะรุ่นใหม่เข้าสู่ทีมทดแทนนักเตะที่มีอายุมาก แรก ๆ อาจจะขัดตา แต่นานไปก็จะเห็นว่าเล่นได้เนียนตามากขึ้น เข้าขากันมากขึ้น และจะเป็นกำลังหลักของทีมในอนาคต

จริงอยู่ ที่การแก้ปัญหาของประเทศไม่เหมือนการแก้ปัญหาของทีมฟุตบอล แต่การสร้างยานอวกาศ หุ่นยนต์ รถยนต์ อาคารใหญ่ ๆ หรือแม้แต่บ้านของเรา ก็มักจะเริ่มจากโมเดลเล็ก ๆ ก่อนทั้งสิ้นไม่ใช่เหรอครับ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

ลิเวอร์พูลกับเศรษฐกิจไทย | พงศ์นคร โภชากรณ์

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 

พงศ์นคร โภชากรณ์

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  

[email protected]