'ธนาคารโลก' แนะไทยปฏิรูปเบี้ยเกษียณ - คนชรา ลดยากจน การเงินยั่งยืน

'ธนาคารโลก' แนะไทยปฏิรูปเบี้ยเกษียณ - คนชรา ลดยากจน การเงินยั่งยืน

ธนาคารโลกแนะนำรัฐบาลไทยชุดถัดไป ปฏิรูปเบี้ยเกษียณ และเบี้ยคนชราเป็น 2,000 บาท/เดือน เพิ่มงบประมาณช่วยเหลือทางสังคมให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

“โรนัลด์ อาเปนยู มูตาซา” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก รายงาน (29 พ.ค.) ว่า การคุ้มครองทางสังคม มีอยู่ 2 องค์ประกอบ ได้แก่

1.การช่วยเหลือทางสังคม อาทิ การสนับสนุนครัวเรือนที่ยากลำบาก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทรัพยากรบุคคล

2.การมีระบบประกันสังคมที่ดี

ในการวิเคราะห์ของ เวิลด์แบงก์ จะดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้ความช่วยเหลือในสังคมไทย โดยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าประเทศไทยปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคมจะส่งผลต่อนโยบายการคลัง  ความยากจน และความเท่าเทียมในไทยอย่างไร

ธนาคารโลก เผยว่า ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมของไทยค่อนข้างต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางครึ่งหนึ่ง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยให้ความช่วยเหลือสังคมได้ดีมาก

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์การคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิผลในไทย ธนาคารโลกมีสมมติฐานแรกว่า ให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทต่อเดือน สำหรับกลุ่มคนยากจน 40% ล่าง จะช่วยลดความยากจนและลดผลกระทบการคลังได้

สมมติฐานที่สองคือ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุกลุ่มยากจน 40% ล่าง เป็น 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้สูงอายุกลุ่มอื่นๆ ปรับเบี้ยไปตามฐานะ  และเพิ่มงบบัตรสวัสดิการรัฐเป็น  700 บาท จะช่วยลดความยากจนได้ดีมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ทางการเมือง สังคม ธนาคารโลกคาดว่า สมมติฐานแรกนั้นสามารถเป็นไปได้มากที่สุด

 

จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

1.รัฐบาลไทยควรเพิ่มรายจ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมให้มีความถาวรมากขึ้น กว่าช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะนโยบายช่วงนั้น เป็นการช่วยเหลือเพียงระยะสั้น  

2.มีโครงการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระทางการคลัง

3.ลดการกระจัดกระจายของการช่วยเหลือ และมีระบบติดตามโครงการต่างๆ อย่างครอบคลุม

4.ปฏิรูปเบี้ยเกษียณ ปรับเงินสมทบประกันสังคม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และความยั่งยืนทางการเงิน อาทิ ขยายอายุเกษียณ ลดความแตกต่างระหว่างอายุเกษียณภาครัฐ และเอกชน, ใช้รายได้ตลอดชีพเป็นฐานคำนวณบำนาญเริ่มต้น, จัดทำดัชนีราคาเงินบำนาญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และกองทุนประกันสังคมจัดทำดัชนีกำหนดเพดานรายได้เพื่อมาคำนวณบำนาญต่อการเติบโตของค่าจ้าง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์