การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีบีบ อุตฯ Hard Disk Drive ยกเลิกการผลิต
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งครั้งหนึ่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้สร้างสัดส่วนการส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเผชิญความท้าทาย
ข้อมูลจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนม.ค. 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
โดยภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว5.8% จากไตรมาสที่ 3/2565 ที่ขยายตัว 8.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตเพื่อส่งออกในหลายอุตสาหกรรมหดตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในอัตราที่เร็วและแรงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ Hard Disk Drive จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตทยอยยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกลดลง อีกทั้งความต้องการในสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การจัดเก็บลดลงต่อเนื่อง
ส่วนการกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานของโรงกลั่นบางรายในช่วงเดือนต.ค.และพ.ย. 2565 เม็ดพลาสติก จากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น และการชะลอการผลิตเพื่อการระบายสินค้าคงคลังซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ รถยนต์ เป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออก โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท น้ำมันปาล์ม เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมอาหาร ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีนี้มีจำนวนมาก
ด้านภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนม.ค. 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนม.ค. 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัว 48.83% ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เม็ดพลาสติก หดตัว23.34% ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สูง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ลดลง ส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์การแพทย์ลดลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานบางโรงอยู่
3. เฟอร์นิเจอร์ หดตัว48.58% จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลักโดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยางพารารายใหญ่ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด -19 ในประเทศจีนซึ่งในช่วงดังกล่าวจีนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ โดยจีนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้อันดับที่ 1 ของโลก ส่วนเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ การผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนม.ค. 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 1. การกลั่นน้ำมัน ขยายตัว 8.96% ตามการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2. รถยนต์ ขยายตัว 6.79% เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลาย ๆ รุ่น ทำให้สามารถทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแม้จะทำให้การผลิตสินค้าอย่างหนึ่งต้องหายไปจากตลาด ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ทำให้สินค้าบางรายการเกิดใหม่หรือมีความต้องการเพิ่มขึ้น การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทันเวลาซึ่งไม่เพียงแค่ปัจจัยเทคโนโลยีเท่านั้น ยังมีปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องรับมือให้ได้และทันเวลาด้วย