การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย: บทเรียนจากอดีต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ปี 2023 หลายฝ่ายต้องการให้รีบตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาโดยเร็ว เพื่อให้เข้ามาขับเคลื่อนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพราะมีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะอ่อนแรง หากอยู่ในสภาพสุญญากาศนานเกินไป และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็ดูไม่น่าไว้ใจมากนัก
กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะต้องชะลอตัวลงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยุโรปก็เสี่ยงที่การสู้รบในยูเครนจะรุนแรงขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ และตัวเลขล่าสุดจากประเทศจีนสะท้อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงแล้ว
ผมจึงกลับไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต 30 ปีที่ผ่านมา หลังจากการเกิดวิกฤติ ได้แก่ วิกฤติการเมือง (พฤษภาทมิฬ) ในปี 1992 วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2014 ซึ่งได้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจสรุปในตาราง
๐ การฟื้นตัวหลังวิกฤติการเมือง 1992-พลาดสู่วิกฤติ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนั้น เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่มาก มีปัจจัยการผลิตเพียงพอทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็น แรงงานหรือพลังงาน นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐก็ยังปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับลดลง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวขึ้นสูงถึง 1,700 จุดในปี 1993
ประเทศไทยปรับนโยบายการเงิน ให้เงินทุนสามารถไหลเข้า-ออกได้โดยเสรี เพราะเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 (ตามเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์) แต่นโยบายผิดพลาด
เพราะการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ ส่งผลให้เกิดภาวะ “ฟองสบู่” ในประเทศ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์
และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศขึ้นไปสูง (ประมาณ 13-14%) ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในต่างประเทศเพียง 5-7% ทำให้เกิดการกู้เงินสร้างหนี้สินจากต่างประเทศจำนวนมาก
สิ่งที่สามารถเห็นได้จากตารางคือ ในช่วง 1992-1996 นั้น แม้ว่าจีดีพีจะขยายตัวสูงมากคือ 7.64% ต่อปีโดยเฉลี่ย แต่เป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน เพราะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ประเทศใช้จ่ายเกินตัว) เฉลี่ยมากถึง 6.42% ต่อปี
การขยายตัวของจีดีพี ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนเป็นหลัก ที่ขยับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์คือเฉลี่ย 40.20% ของจีดีพี โดยที่การบริโภคในประเทศ ไม่ได้ขยับมากนักอยู่ที่ 52.4% ของจีดีพีโดยเฉลี่ย
แต่จะเห็นได้ว่า สัดส่วนสินเชื่อต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 98.5% ในปี 1992 มาสูงถึง 146.3% ของจีดีพีในปี 1996 แปลว่านักธุรกิจกู้ยืมเงินและเพิ่มหนี้สินอย่างมาก โดยน่าจะเป็นนักธุรกิจไทยเป็นหลัก
เพราะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) นั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.34% ของจีดีพีเท่านั้น
สรุปได้ว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด แต่กระโดดพลาด ลงทุนอย่างไม่มีคุณภาพ โดยการกู้เงินจากต่างประเทศ แต่รายได้เป็นเงินบาท จนในที่สุด ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในปี 1997
๐ การฟื้นตัวหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง
หลังจากเกิดวิกฤติ ประเทศไทยต้องยอมให้ไอเอ็มเอฟเข้ามาบงการ การปฏิรูปเศรษฐกิจ พร้อมกับการปฏิรูปการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 1997 ที่กล่าวกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
จะเห็นได้ว่า เป็นการฟื้นตัวแบบรอบด้านและสมดุล คือจีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ตามเกณฑ์ที่คาดหวัง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็กลับกลายมาเป็นการเกินดุลอย่างพอเหมาะพอควร
ทั้งนี้เพราะ การขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยับตัวขึ้นมาสูงถึง 63.24% ของจีดีพี โดยเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่มีสัดส่วนเพียง 38.5% ของจีดีพี
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะสามารถแข่งขันได้ในต่างประเทศแล้ว ก็ยังสามารถดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก คือเฉลี่ย 3.24% ของจีดีพี (จาก 1.34% ของจีดีพีในช่วง 1995-1996)
ในช่วงนั้น การลงทุนโดยรวมไม่ได้เพิ่มมากนัก (เฉลี่ยเพียง 22.8% ของจีดีพี) ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะว่า มีกำลังการผลิตเหลือ และมีการควบคุมคุณภาพมากขึ้น
เห็นได้จากสัดส่วนของสินเชื่อต่อจีดีพี ที่ลดจาก 105.1% ของจีดีพีในปี 2000 ลงมาที่ 95.1% ของจีดีพีในปี 2004 นอกจากนั้น ในช่วงดังกล่าว หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังลดลงจาก 57% ในปี 2000 ลงมาเหลือ 47.5% ในปี 2004
กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการฟื้นตัวในเชิงเศรษฐกิจมหภาคที่สมดุลและมีคุณภาพ น่าเสียดายที่ต่อมา การเมืองก็มีปัญหายืดเยื้อต่อเนื่องมานับ 10 ปี ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
๐ 2015-2019: การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบรออีก (ไม่) นาน
การปฏิวัติยึดอำนาจในปี 2014 ไม่ควรจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนักในปี 2015-2019 แต่ปรากฏว่า เป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอและกระท่อนกระแท่นอย่างมาก
เห็นได้จาก การขยายตัวของจีดีพีที่ต่ำเพียง 3.42% ต่อปี และกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแออย่างมาก กล่าวคือการบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 49.8% ของจีดีพีโดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนไปสู่ระดับที่สูงมากคือเฉลี่ย 79% ของจีดีพี
เมื่อการบริโภคในประเทศไม่ฟื้น ก็จำเป็นที่ประเทศไทยต้องส่งสินค้าและบริการออกไปขายในต่างประเทศ เห็นได้จากสัดส่วนนี้สูงถึง 66.04% ของจีดีพี และประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล คิดเป็นสัดส่วน 7.98% ของจีดีพี
แต่ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เพราะสัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพีลดลงมาทุกปี คือจาก 68.4% ในปี 2014 เหลือเพียง 59.5% ในปี 2019 และอาการดูจะไม่ดีขึ้น
นอกจากนั้น การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็ต่ำที่ 1.7% ของจีดีพี
กล่าวโดยสรุปคือ เศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะอ่อนตัวและเปราะบาง ก่อนที่จะต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ในปี 2020
ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 จึงเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ง่ายเลย เพราะปัจจัยพื้นฐานทั้งในและนอกประเทศไม่เอื้ออำนวย
ในความเห็นของผม จึงต้องมุ่งเน้นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่าการรีบเร่ง “แบ่งเค้ก” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
โดยไม่ได้คำนึงอย่างเพียงพอถึงผลกระทบของนโยบายดังกล่าว ในการลดทอนการฟื้นตัวของการลงทุน การจ้างงานและการขยายตัวของเศรษฐกิจครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร