‘ก้าวไกล’ เล็งฟื้น ‘ผู้แทนการค้าไทย’ ดึงลงทุน-เจรจาการค้า-ดันส่งออก

‘ก้าวไกล’ เล็งฟื้น ‘ผู้แทนการค้าไทย’ ดึงลงทุน-เจรจาการค้า-ดันส่งออก

"ก้าวไกล" เล็งฟื้นสนง.ผู้แทนการค้าไทย ปรับโครงสร้างใหญ่ดึงหน่วยงานเกี่ยวกับการดึงการลงทุน – เจรจาการค้า – ส่งเสริมการส่งออกำกับสำนักนายกฯ เผยเตรียมปรับแผนบีโอพุ่งเป้าดึงกลุ่มเป้าหมาย ลดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีลง 10% ทำแพคเกจเจาะจงนักลงทุนเป้าหมาย สรท.แนะเร่งFTA

Key points 

  • พรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแผนที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุน ควบคู่ผลักดันการส่งออก 
  • โดยแผนหนึ่งคือการฟื้นสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
  • ในส่วนของแผนส่งเสริมการลงทุน เตรียมจะลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบีโอไอลง10% แต่เพิ่มแพคเกจส่งเสริมลงทุนตามที่บริษัทชั้นนำต้องการ
  • โดยเป้าหมายในอุตสาหกรรมที่สนับสนุนคือ EV ชิปต้นน้ำ และเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง 
  • ไทยมีFTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา 5 ฉบับ และการหาตลาดซื้อขายใหม่เพิ่มเติม สรท.แนะให้วางบทบาทผู้แทนการค้าไทยที่ช่วยเจรจาให้ชัด 

ช่วงที่ผ่านมาเจรจาข้อตกการค้าของประเทศไทยมีความคืบหน้าไม่มาก โดยบางข้อตกลงไม่สามารถหาข้อสรุปการเข้าร่วมได้ เช่น ข้อตกลงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจการเข้ามาทำการค้าการลงทุนลดลง

ในขณะที่พรรคก้าวไกลที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรคการเมือง ได้มีนโยายการต่างประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมามีบทบาทบนเวทีเจรจาระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย (TTRO) ซึ่งเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากรมขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยรับผิดชอบในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศที่ไม่ใช่คู่เจรจาเดิม รวมไปถึงคู่เจรจาที่ไม่มีสถานะความเป็นรัฐโดยสมบูรณ์และคู่เจรจาที่มีสถานะพิเศษอื่น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเป็นทางการของรัฐบาล

‘ก้าวไกล’ เล็งฟื้น ‘ผู้แทนการค้าไทย’ ดึงลงทุน-เจรจาการค้า-ดันส่งออก

การจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทยจะมีการโอนอำนาจหน้าที่ งบประมาณ บุคลากรและสุานที่ จากหน่วยงานต่างๆ มาอยู่ที่สำนักงานผู้แทนการค้าไทยด้วย โดยที่ผ่านมาเคยมีสำนักงานผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” แต่มีการยุบไปในปี 2550 ช่วงรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ด้วยเหตุผลความซ้ำซ้อนกับกระทรวงพาณิชย์

 

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการเจรจาการค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเจรจาการลงทุน เช่น ข้อตกลงเขตเสรีการค้า (FTA) การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยรัฐบาลก้าวไกลจึงมีนโยบายที่จะฟื้นฟูการตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทยขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่นี้ 

 

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะมีการรวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เข้ามารวมอยู่ในการทำงานของผู้แทนการค้าไทย (TTR) เพื่อให้มียุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกันในการเจรจาต่างประเทศ การดึงการลงทุน และการส่งเสริมการส่งออก 

ทั้งนี้มีแนวคิดที่จะรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างประเทศเข้ามาอยู่ใน TTRO เช่น กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระห่างประเทศ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้มารวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกันเป็นหน่วยงานใหม่ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

 

 

สำหรับการปรับบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พรรคก้าวไกลไม่ได้มีนโยบายจะยกเลิกการส่งเสริมการลงทุน หรือยกเลิกบีโอไอที่จะให้กับนักลงทุน แต่จะปรับมาตรการและการสนับสนุนมาตรการบางส่วน เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมของบีโอไอ โดยคาดว่าจะลดลงประมาณ 10% จากเดิมที่มีการเว้นภาษีในส่วนนี้ให้กับนักลงทุนประมาณปีละ 80,000 ล้านบาท จะปรับลดลงประมาณปีละ 8,000 ล้านบาทต่อปี แล้วนำเงินจำนวนนี้มาทำแพคเกจการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของเอกชนที่ไทยต้องการให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยการปรับมาตรการให้บีโอไอให้เป็นมาตรการสนับสนุน และดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดตรงเป้ามากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

‘ก้าวไกล’ เล็งฟื้น ‘ผู้แทนการค้าไทย’ ดึงลงทุน-เจรจาการค้า-ดันส่งออก

“การลดหย่อนภาษีในปัจจุบันควรดูในอุตสาหกรรมที่ตรงเป้าหมาย และมาตรการเรื่องภาษีที่มีการลดหย่อนภาษี 8 - 13 ปี ก็ไม่ใช่รูปแบบที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันเพราะต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการลงทุนอื่นๆที่ตอบโจทย์การลงทุนที่เป็นแพคเกจการลงทุนที่ต้องดูความต้องการนักลงทุนแต่ละรายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนด้วย”

ตั้งเป้าหนุนลงทุนชิปต้นน้ำ

สำหรับโอกาสการส่งเสริมการลงทุนของไทยปัจจุบันยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 

รวมทั้งอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ ที่ขณะนี้ไทยมีโอกาสรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่จะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากปัญหา “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” และปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตในส่วนนี้โดยจะต้องรักษาสถานะความเป็นกลางของประเทศไทยไว้ให้ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการย้ายฐานการผลิตที่จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจในโลก

 

สรท.แนะวางบทบาทผู้แทนการค้าให้ชัดเจน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แนวคิดการตั้งผู้แทนการค้าไทยมีมานานแล้ว ซึ่งมองว่าโดยหลักการจะต้องวางอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าให้มีความ การสื่อสารทั้งในและต่างประเทศต้องชัดเจน รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน 

“แนวคิดหรือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ยังไม่แน่ใจว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไรจึงต้องดูแนวคิดและความรับผิดชอบ ขณะนี้จึงไม่อยากออกความเห็นมากนักเพราะยังไม่เห็นรายละเอียด”

ไทยรอชัดเจนเจรจา FTA 5 ฉบับ 

ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับ 5 ข้อตกลง ประกอบด้วย 

1.FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือ การเจรจาจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (CEPA) โดยจะมีการนัดประชุมครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค.2566 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

2.FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยจะมีการประชุมรอบแรกในเดือน ก.ย.2566 คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จบได้ในปี 2568

3.FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งได้เริ่มเจรจาไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.2565 และได้ตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้อย่างเร็วภายใน 2 ปี หรือในปี 2567

4.FTA ไทย-ศรีลังกา เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และปัจจุบันมีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ และได้นัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย.2566 โดยตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 2567

และ 5.FTA อาเซียน-แคนาดา โดยเริ่มเจรจารอบแรกเมื่อปี 2565 ล่าสุดเจรจารอบ 3 เมื่อเดือน เม.ย.2566 ซึ่งในปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปี 2567 

ขณะที่ FTA เอฟทีเอไทย-ตุรกี การประชุมที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้มีการเลือกตั้งใหม่คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ก่อนเริ่มเจรจาอีกครั้ง ส่วน FTA ไทย-ปากีสถาน ที่หยุดชะงักไปเพราะปัญหาภายในประเทศคาดว่าในเร็วๆนี้จะเปิดเจรจาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดเจรจากับประเทศคู่ค้าใหม่ เพื่อเพิ่มตลาดการค้าไทยให้มากขึ้นที่วางไว้ คือ ประเทศอิสราเอล ภูฏาน เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ