'กรมราง' ตั้งเป้าอุบัตเหตุทางรางเป็นศูนย์ ชงรัฐบาลใหม่เร่งคลอด พ.ร.บ.คุม
"กรมราง" ตั้งเป้าอุบัติเหตุขนส่งทางรางเป็นศูนย์ เดินหน้าเตรียมชง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางเข้า ครม.ชุดใหม่หวังผลักดันมาตรฐานสอบใบอนุญาต และเกณฑ์ตรวจสอบตัวรถให้บริการ คาดบังคับใช้ไม่เกินต้นปี 67
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 2 ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการศึกษาของโครงการ รวมทั้งการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล โดยหลังจากนี้กรมฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อสรุปโครงการ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
"ช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 153 ระบุว่า สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ เสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อในวาระที่ 2 ได้เลย โดยหลังจากนี้กรมฯ จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยัง ครม.ชุดใหม่ เพื่อร้องขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาพิจารณาต่ออีกครั้ง ภายใน 60 วัน หรือภาย ส.ค.-ก.ย.นี้ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า"
อย่างไรก็ดี หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง กรมฯ มั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อมาตรฐานความปลอกภัยของระบบรางในทันที เนื่องจากปัจจุบันไทยยังคงมีเหตุขัดข้องจากการให้บริการระบบขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยหลังจากมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ และสามารถบังคับใช้ในการสอบออกใบอนุญาตผู้ขับ และเช็คมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถ จะทำให้เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นในระบบรางลดลงอย่างต่อเนื่อง และอุบัติเหตุเป็นศูนย์ภายใน 3 - 5 ปีหลังการประกาศใช้
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ผู้ให้บริการระบบราง หรือ โอเปอเรเตอร์ จะต้องส่งข้อมูลต่างๆ ให้ กรมฯ ตรวจสอบเมื่อใบอนุญาตหมดอายุ และต้องต่ออายุใหม่ อาทิ ผลการตรวจตาบอดสี สุขภาพจิต สมรรถนะทางการได้ยิน และผลตรวจสารเสพติด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากปัจจุบันระบบรางกำลังจะเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางประมาณ 4,044 กิโลเมตร ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สายสีต่างๆ 11 สายทาง คิดเป็นระยะทางประมาณ 211 กิโลเมตร รวมกันสองระบบประมาณ 4,255 กิโลเมตร ตัวเลขที่กล่าวมานี้ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางแห่งอนาคต และยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางหลายโครงการ ในปัจจุบันมีโครงการรถไฟทางคู่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ถึง 4 โครงการ รวมระยะทางกว่า 613 กิโลเมตร โครงการทางคู่ ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างรอเสนอรัฐบาลใหม่ 7 โครงการ ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร ยังไม่รวมรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ และรถไฟความเร็วสูงอีก 2 โครงการ
สำหรับใบอนุญาตที่จะมีการประกาศใช้ภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ปัจจุบันมีไม่เกิน 10 ราย โดยใบอนุญาตมีอายุเท่ากับอายุสัมปทานที่ผู้ประกอบการได้รับ 2.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำหน้าที่ อาทิ พนักงานขับรถไฟ/รถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูง และพนักงานควบคุมการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่รวมประมาณ 2,000 คน โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี และ 3.ใบอนุญาตสำหรับรถขนส่งทางราง ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำข้อมูล อาทิ รถไฟ/รถไฟฟ้า/รถราง มีตู้กี่ตู้ มาจดทะเบียนทั้งหมด ปัจจุบันมีประมาณ 10,200 ตู้ โดยใบอนุญาตมีอายุ 8 ปี ทั้งนี้ หากกรมฯ พบว่าผู้ประกอบการฯ พนักงานขับรถ และรถขนส่งทางราง ไม่มีใบอนุญาต จะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ