เครดิตบูโร ห่วง ‘GEN-Y’ ก่อหนี้รถยนต์พุ่ง พบเลี้ยงงวดมากสุด เสี่ยงเป็น NLP

เครดิตบูโร ห่วง ‘GEN-Y’ ก่อหนี้รถยนต์พุ่ง พบเลี้ยงงวดมากสุด เสี่ยงเป็น NLP

สำนักงานสถิติแห่งชาติ แจง “หนี้จากสินเชื่อยานยนต์” มีสัดส่วนกว่า 12% สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของบรรดาหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ด้านเครดิตบูโร ชี้ “คนเจนวาย” ค้างชำระอื้อ ส่วน “นักเศรษฐศาสตร์” ประเมินมาตรการแบงก์ชาติทำได้เพียงพยุงสถานการณ์ หากเศรษฐกิจยังโตต่ำ

Key Points

  • หนี้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
  • หนี้ผ่อนรถยนต์-จักรยานยนต์ อยู่ที่ 12% ของอัตราส่วนหนี้ทั้งหมด
  • แบงก์ชาติจ่อออก พ.ร.ฎ. ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อ
  • กูรูประเมินวิธีเดียวที่จะทำให้ปัญหาหนี้ดีขึ้นคือ ศก. ต้องโต

หนี้ครัวเรือนของไทย เป็นหนึ่งในปัญหาที่ “กัดกิน” เศรษฐกิจไทยมาหลายทศวรรษ และฉุดรั้งการเติบโตของหลายภาคส่วนมาอย่างยาวนาน ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลตาม บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร พบว่าประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีหนี้อยู่ในระดับสูง

ขณะที่ 57% มีหนี้เกิน 100,000 บาท/คน และ 4% มีหนี้เกิน 1,000,000 บาท/คน โดยหากคำนวณเสร็จสรรพแล้ว คนไทยมีหนี้ต่อคนเฉลี่ยประมาณ 520,000 บาท แต่ประเด็นที่น่ากังวลขึ้นไปอีก คือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-productive Loan)

ทั้งนี้ ในบรรดาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าว “หนี้จากการผ่อนรถยนต์-จักรยานยนต์” มีสัดส่วนถึง 12% เป็นรองเพียงหนี้จากหนี้บัตรเครดิตและหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ที่ 29% และ 39% ตามลำดับ ในขณะที่หนี้สินที่ก่อให้เกิดรายได้อย่าง สินเชื่อที่อยู่อาศัยและการดำเนินธุรกิจมีสัดส่วนน้อยมากที่อย่างละ 4% 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566

สอดคล้องกับ ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ที่ระบุว่า “สินเชื่อยานยนต์” ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ไตรมาส 1-4 ของปี 2565 อยู่ที่ 12.1% 13.1% 13.6% และ 13.7% ตามลำดับ

ขณะที่เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.)  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ ของเครดิตบูโร โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า ในระบบของเครดิตบูโรมีหนี้จากสินเชื่อรถยนต์รวม 2.6 ล้านล้านบาท 

โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีสัญญากู้รถยนต์รวม 3.5 แสนบัญชี โดย 53% ของสัญญาดังกล่าวเป็นของ “คนเจนวาย” ซึ่ง ​67% ของสัญญาดังกล่าวมีอัตราการกู้ยืมในช่วง 500,000-2,000,000 บาท 

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้เสียค้างจ่ายเกิน 90 วันอยู่ที่ 6.9% ของยอดหนี้จากสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด “ปัญหาคือหนี้ค้าง 1-3 งวด แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่าการเลี้ยงงวด เติบโตพุ่งมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 (1 ปีครึ่ง) ตอนนี้เท่ากับ 1.9 แสนล้าน คิดเป็น 7.3% ของยอดหนี้ทั้งหมด”

“คนเจนวาย” อยู่ในสถานะเลี้ยงงวด มากที่สุด

จำนวนบัญชีหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 30 วันของกลุ่มคนเจนวายมีสัดส่วนมากที่สุด หรือมากกว่า 6 แสนบัญชี ขณะที่จำนวนบัญชีหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 30 วันของคนเจนเอ็กซ์ อยู่ที่เกือบ 4 แสนบัญชี ส่วนคนเจนเบบี้บูมเมอร์มีไม่ถึง 1 แสนบัญชี โดยหนี้จากสินเชื่อรถยนต์ของกลุ่มคนเจนวายมีอัตราการเติบโตของหนี้ค้างชำระ ในช่วง 31-60 วันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายสุรพลทิ้งท้ายว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั้งหมดจึงไม่แปลกที่หลายธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเพื่อยานยนต์ยากขึ้นหรือแม้กระทั่งหลายธนาคารที่ปฏิเสธการให้สินเชื่อ

“ปัญหาทั้งหมดกระทบกับคนที่ขายรถยนต์​ บ้านเรากู้เงินมาซื้อรถยนต์กันมากกว่าซื้อสด​ ในอนาคตเราคงจะได้เห็น​ หนี้เสียจากรถยนต์​ที่รักโลก​ รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแน่” พร้อมแนะนำให้ประชาชนตัดสินใจให้รอบคอบก่อนกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าดังกล่าว  

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เตรียมความพร้อมการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ผ่านการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)​ ซึ่งอาจเสร็จสิ้นและเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย. 2566

อ่านข่าวเพิ่มเติม

แบงก์ชาติ จ่อคุม ธุรกิจเช่าซื้อ 1พ.ย.นี้ เพิ่มความเป็นธรรมให้ลูกหนี้

หนึ่งสาเหตุที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการควบคุมภาคส่วนดังกล่าว เนื่องจาก “ธุรกิจเช่าซื้อ” มีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งปัจจุบันมียอดหนี้จากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งอยู่ที่ 12.4% ของหนี้ครัวเรือนไทยมูลค่า 15 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เห็นพ้องว่า แม้แบงก์ชาติจะเข้ามาควบคุมการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ทว่า ณ ตอนนี้ยังเป็นการควบคุมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้กู้ยืม และคาดว่าจะยังไม่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อเพิ่มเติมจากที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า อัตราดอกเบี้ยของ รถยนต์ใหม่อยู่ที่ 10% รถยนต์เก่า 15% และรถจักรยานยนต์ 23%

ไทม์ไลน์แบงก์ชาติกำหนด พ.ร.ฎ. ดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ประเด็นเรื่องหนี้จากสินเชื่อยานยนต์เป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจในประเทศยังคงซบเซา 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัดส่วนหนี้จากสินเชื่อยานยนต์ในปัจจุบันอาจเกิดได้จากทั้ง ผู้กู้คาดว่าเศรษฐกิจจะดีและรายได้ขยายตัวในอนาคต หรือแม้กระทั่งเป็นการกู้สินเชื่อที่เกินความสามารถในการจ่ายคืนตั้งแต่แรก 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยกระทบประเด็นดังกล่าวน้อยมากเพราะสินเชื่อในหมวดยานยนต์มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับท่าทีของแบงก์ชาติที่จะออก พ.ร.ฎ. เพื่อควบคุมกลุ่มธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ เป็นเพียงการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่าเดิมเท่านั้น 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สิ่งเดียวที่จะทำให้ประเด็นนี้คลี่คลาย คือประชาชนมีรายได้ มีความสามารถในการจ่ายหนี้มากขึ้น นั้นคือเศรษฐกิจต้องดีขึ้น ความหวังในระยะสั้นคือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว