วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร

ศุกร์ที่แล้ว ผมเข้ารายการ Squawk Box ของ CNBC Thailand ได้ให้ความเห็นเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังเฟดประกาศไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด

พูดถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั้งในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และไทย วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นที่ให้ไปในบทความวันนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

วันพุธที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Fed Fund rate ไว้ที่ร้อยละ 5.0-5.25 คือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดการเงิน ผมเองก็ไม่แปลกใจ เพราะมีข้อมูลและเหตุผลหลายอย่างที่ชี้ว่าการตัดสินใจน่าจะออกมาแบบนั้น

1.อัตราเงินเฟ้อสหรัฐกําลังเป็นขาลง ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ลดลงจากร้อยละ 4.9 เดือน เม.ย. ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากตลาดแรงงาน คือการปรับขั้นของค่าจ้างแรงงานก็เริ่มผ่อนคลายลง ชี้ว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจน่าจะลดลงได้ต่อเนื่อง

2.อัตราเงินเฟ้อคาดหวังของภาคธุรกิจและประชาชน หมายถึงระดับเงินเฟ้อที่ภาคธุรกิจและประชาชนสหรัฐ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าก็ค่อนข้างนิ่งและมีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงที่พฤติกรรมการตั้งราคาของภาคธุรกิจจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีก

3.อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่ลดลงมาที่ร้อยละ 4.0 เดือน พ.ค. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 5.0-5.25 หมายถึงอัตราดอกเบี้ยแท้จริงวัดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้กลับมาเป็นบวก

ชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่องช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาได้นําอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐกลับมาสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ทำให้นโยบายการเงินสหรัฐกลับมาสู่ระดับที่เป็นกลางมากขึ้นในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดความบิดเบือนและความไม่สมดุลที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ

นี่คือสามเหตุผลที่ทําให้เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.0-5.25 ไม่ขึ้นต่อ

อย่างไรก็ตาม จากที่เป้าอัตราเงินเฟ้อของเฟดอยู่ที่ร้อยละ 2 ทําให้เฟดอยากเห็นอัตราเงินเฟ้อลดลงอีกซึ่งคงเกิดขึ้น เพราะผลสะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวมแล้วมากถึงร้อยละ 5 ยังมีอยู่มากในระบบเศรษฐกิจ

รวมถึงผลที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นพลวัตที่จะทําให้แรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐลดลงได้ต่อเนื่อง

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร

ต่อคําถามว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่หลังหยุดหรือหยุดพักคราวนี้ เพราะเฟดยํ้าว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีความเป็นไปได้ และตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกสองครั้งก่อนสิ้นปี

ในเรื่องนี้ผมคิดว่าปัจจัยตัดสินสำคัญคือเงินเฟ้อ ว่าจะลดลงได้มากและเร็วขนาดไหนจากนี้ไป ไม่สามารถพูดได้ล่วงหน้าว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอีกสองครั้ง ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่จะออกมาในอนาคต

คือถ้าอัตราเงินเฟ้อยังเป็นขาลงต่อเนื่อง ความจำเป็นที่เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าระดับปัจจุบันก็แทบจะไม่มี

ตรงกันข้าม ถ้าในวันที่ต้องตัดสินใจ อัตราเงินเฟ้อกลับไปสูงอีกหรือลดลงช้ามาก ก็มีเหตุผลที่เฟดอาจใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยดูแลสถานการณ์

ซึ่งประธานเฟดอธิบายชัดในข้อนี้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป ถ้ามี จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง

สำหรับผมเหตุผลหลักที่เฟดยังพูดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ก็เพื่อให้ตลาดการเงินไม่ด่วนสรุปว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบแล้ว เพราะการบ้านเรื่องเงินเฟ้อของเฟดยังไม่เสร็จ

อัตราเงินเฟ้อยังต้องลดต่อสู่เป้าระดับร้อยละ 2 และอัตราดอกเบี้ยอาจต้องปรับขึ้นอีก จึงจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องแสดงท่าทีที่ระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อให้ตลาดการเงินระมัดระวังและไม่ชะล่าใจเช่นกัน

การหยุดหรือหยุดพักขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในตลาดการเงินโลก เพราะชี้ว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเศรษฐกิจโลกรอบนี้อาจจบหรือใกล้จบแล้ว ตลาดการเงินจะปรับราคา ปรับผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะลดลงตามไปด้วย

ที่สำคัญความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้มากก็จะลดลงไปด้วย เพราะอัตราดอกเบี้ยอาจไม่สูงไปมากกว่านี้ เกิดเป็นความชัดเจนที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักหรือเดินหน้าได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร

ต่อคําถาม การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะกระทบทิศทางและจังหวะก้าวของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นๆ อย่างไร

คําตอบผมคือนโยบายการเงินของแต่ละประเทศ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งสำคัญสุดขณะนี้คือเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปยังสูงที่ร้อยละ 6 แม้กําลังลดลง ทําให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ยังต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อและมีแผนที่จะขึ้นต่อเนื่องถ้าอัตราเงินเฟ้อยังสูง

สำหรับญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อตํ่ามาตลอด แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ แสดงถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ

แต่ล่าสุดในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ยังไม่ตัดสินใจที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ทําให้เงินเยนยิ่งอ่อนค่าลงอีก

สำหรับประเทศไทยเรา อัตราเงินเฟ้อกําลังลดจากผลของราคาพลังงานที่ลดลงและความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังตํ่ามากที่ร้อยละ 2 และอาจตํ่ากว่าอัตราเงินเฟ้อถ้าไม่รวมผลของมาตรการอุดหนุนหรือควบคุมราคาของรัฐบาล เช่น ค่าไฟฟ้าหรือราคาพลังงานที่มีต่อตัวเลขเงินเฟ้อ

ดังนั้น จึงมีพื้นที่ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นได้อีก เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น คือไปสู่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เป็นบวก เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพ

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]