'คมนาคม' เตรียมชง ครม.อนุมัติ อัตราเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง
ลุ้น “คมนาคม” เสนอ ครม. เคาะราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง หลังเตรียมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ 3 ก.ค.นี้ “บีทีเอส” ชี้โมโนเรลล่าช้า 2 ปี กระทบต้นทุนเพิ่ม 7 พันล้านบาท เร่งก่อสร้างสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ทยอยเปิดบริการ พ.ย.นี้
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการอัตราเก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง โดยระบุว่า ขณะนี้ทราบว่าทางเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีกำหนดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยทางกระทรวงฯ ได้เร่งรัดไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าว หากข้อมูลครบถ้วนกระทรวงฯ ก็มีความพร้อมที่จะเสนออัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบทันทีในวันนี้ (20 มิ.ย.)
“คมนาคม กำลังเร่งตามข้อมูลเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งมองว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร ดังนั้นถ้าได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ทราบได้เลยในวันนี้ และจะเป็นไปตามกำหนดที่จะเปิดบริการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ก.ค.นี้”
อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง นับเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศไทยสำเร็จลุล่วงตามแผนงานโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน เติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้ประชาชนเดินทางจากชานเมืองสู่ใจกลางเมืองได้แบบไร้รอยต่อ
ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS) เผยในนามบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองว่า บริษัทฯ ประเมินว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นขออนุมัติอัตราราคาค่าโดยสารตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว ซึ่งกำหนดต้องแจ้งราคาไปยัง รฟม.ล่วงหน้า 90 วัน เบื้องต้นจึงประเมินว่าหากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จะมีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุดเฉลี่ย 2 แสนคนต่อวัน
ครม.อนุมัติค่าโดยสารก่อน 3 ก.ค.นี้
“กำหนดเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.นี้ ส่วนเรื่องนี้ต้องเสนอ ครม. อนุมัติก่อนจึงจะสามารถเก็บค่าโดยสารได้นั้น ถือว่าเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของ รฟม. เพราะตามสัญญาสัมปทาน ทางบริษัทฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ รวมทั้งแจ้งกำหนดการเก็บค่าโดยสารให้ รฟม. ทราบแล้ว ซึ่งก็หวังว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไร ครม. และ รฟม. คงจะเข้าใจ และสามารถเก็บค่าโดยสารได้ทันตามที่ได้แจ้ง รฟม.ไว้”
ส่วนกรณีข้อเสนอของบริษัทฯ ที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเชื่อมสถานีลาดพร้าว - แยกรัชโยธินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เรื่องนี้คงต้องแล้วแต่การพิจารณาของ รฟม. แต่ทางบริษัทฯ ยังยืนยันว่าหากโครงการส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเกิดขึ้น จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสมบูรณ์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นได้สะดวก และทำให้ประชาชนมั่นใจเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่าการขับรถยนต์ส่วนตัว ทั้งนี้บริษัทฯ ยินดีทำให้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อครบวงจร และพร้อมเจรจาเรื่องส่วนต่อขยายสายสีเหลือง เพราะประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
นายคีรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดงานก่อสร้าง ยอมรับว่าโครงการล่าช้าออกไปจากปัญหาผลกระทบโควิด-19 และการส่งมอบพื้นที่ แต่ขณะนี้ประเมินว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทยอยเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่างๆ รวม 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายรวม 7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากต้นทุนแรงงาน และดอกเบี้ย
คาดค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 30 บาท
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) กล่าวว่า หากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปีแรกนี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารสูงสุด 2 แสนคนต่อวันในช่วงประมาณปลายปี ซึ่งค่าโดยสารเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อคน ดังนั้นบริษัทฯ จึงประเมินรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปีนี้อยู่ที่ราว 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนจะจัดหาขบวนรถให้เสริมบริการในอนาคต โดยจะเพิ่มจากปัจจุบัน 1 ขบวน 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1 พันคน และจะเพิ่มเป็น 1 ขบวน 7 ตู้ในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการของผูโดยสารที่บริษัทฯ มั่นใจว่าจะเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีระยะทางรวม 30.40 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานีทั้งสิ้น 23 สถานี โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีลาดพร้าว บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว แนวเส้นทางวิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าวจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นจะเบี่ยงไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีแยกลำสาลี บริเวณแยกลำสาลีจากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกต่างระดับพระรามเก้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก บริเวณแยกพัฒนาการ ที่สถานีหัวหมาก