โอกาสในวิกฤติ 'อุตสาหกรรมสิ่งทอ' แนะปรับตัวสู่ตลาด 'New S-Curve'

โอกาสในวิกฤติ 'อุตสาหกรรมสิ่งทอ' แนะปรับตัวสู่ตลาด 'New S-Curve'

สศอ. เผยอุตฯ สิ่งทอ กลุ่ม "ด้ายและผ้าคุณสมบัติพิเศษ" ยังมีโอกาสโตในวิกฤติ หลังภาพรวมส่งออกหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6 แนะผู้ประกอบการเจาะตลาด New S-Curve เร่งสร้างความแข็งแกร่งซัพพลายเชนในประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการปรับตัวลดลง ตั้งแต่พ.ย. 2565 - เม.ย. 2566 ตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่เดือนเม.ย. 2566 มีมูลค่าการส่งออก 469.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 14.0% จากปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นผลิตภัณฑ์ย่อยจะพบว่าในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ประเภท “ด้ายและผ้าคุณสมบัติพิเศษ” เป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวและยังมีแนวโน้มเติบโตอีกในอนาคต โดยมีมูลค่าการส่งออก 601.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 1.46% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

สินค้าหมวด "ด้ายและผ้าคุณสมบัติพิเศษ" ครองมูลค่าส่งออกในหมวดสิ่งทออื่นๆ เป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนกว่า 41.0% โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

นอกจากนี้ ไทยยังถือเป็นประเทศที่ส่งออกด้ายและผ้าคุณสมบัติพิเศษเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและอันดับที่ 21 ของโลก รองลงมาคือ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าในหมวด “ด้ายและผ้าคุณสมบัติพิเศษ” ที่มีมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด พบว่า ผ้าคุณสมบัติพิเศษ (ผ้านอนวูฟเวนหรือผ้าไม่ถักไม่ทอ) เป็นหนึ่งในผลผลิตจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะช่วงที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศและช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษที่กันน้ำ ทนไฟ และสามารถกรองเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัส รวมไปถึงฝุ่น PM 2.5  อีกทั้ง เหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และอุตสาหกรรมอื่นๆ

โอกาสในวิกฤติ \'อุตสาหกรรมสิ่งทอ\' แนะปรับตัวสู่ตลาด \'New S-Curve\'

รวมถึงใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น วัสดุทางการแพทย์ ได้แก่ แผ่นกรองหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และแผ่นกรองหน้ากากป้องกันฝุ่น N95 ชุดคลุมทางการแพทย์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ 

นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับรองรับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลอกที่รองศีรษะในรถยนต์ ไส้กรอง พรมปูพื้นรถ

อุตฯ การเกษตร ได้แก่ ถุงปลูกต้นไม้นอนวูฟเวน ช่วยให้อากาศและความชื้นระบายได้ดี ลดความร้อนสะสมในดิน

รวมถึงที่นอน เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุในงานก่อสร้าง

"แม้ภาพรวมของการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะซบเซา แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอชนิดพิเศษกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน โดยเจาะกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีโอกาสเติบโต"

สำหรับภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผ้าคุณสมบัติพิเศษเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งมีศักยภาพทางการตลาด และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ ประเภทหน้ากากอนามัย โดยในปี 2565 หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นควัน PM 2.5 หรือสารพิษต่างๆ  มีมูลค่าการส่งออก 12.3 ล้านดอลลาร์ ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์

และหน้ากากอนามัยชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด มีมูลค่าการส่งออก 5.7 ล้านดอลลาร์ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร