เปิดข้อมูล สตง. ตรวจ 9,471 หน่วยงาน ปกป้องเงินแผ่นดินไม่เสียหาย 2.3 หมื่นล้าน
สตง. รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปข้อมูลภาพรวมพบการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงาน จำนวน 2,508 หน่วยงาน และสามารถปกป้องเงินแผ่นดินได้มากกว่า 23,000 ล้านบาท
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้ตรวจสอบหน่วยรับตรวจซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินหมุนเวียน และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 9,471 หน่วยงาน (รวมจำนวนผลผลิตการตรวจเงินแผ่นดิน 15,353 รายงาน/ระบบ/สัญญา/ประกาศ/เรื่อง/โครงการ)
พบข้อบกพร่องและได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสิ้น 2,508 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 26.48 ของหน่วยรับตรวจที่ สตง. ตรวจสอบ
รวมถึงแจ้งให้หน่วยรับตรวจดำเนินการชดใช้เงินคืน หรือจัดเก็บรายได้เพิ่ม หรือป้องกันความเสียหาย หรือดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 23,712.72 ล้านบาท
ผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินสามารถจำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบได้ดังนี้
1. การตรวจสอบการเงิน จากการตรวจสอบการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวน 8,459 หน่วยงาน รวม 8,681 รายงาน พบว่ามีการจัดทำรายงานการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายบัญชีภาครัฐ หรือมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดย สตง. ได้แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน รวมจำนวน 1,094 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.60 ของรายงานที่ตรวจสอบ
ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายการที่มีจำนวนเงินสูงอย่างมีสาระสำคัญหลายรายการ หรือเพียงรายการเดียวแต่มีสัดส่วนที่สำคัญอย่างมากต่อรายงานการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบระบบสารสนเทศของหน่วยรับตรวจ จำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 3 ระบบ และ 2 โครงการ ยังมีข้อตรวจพบที่สำคัญ อาทิ ไม่มีการดำเนินการจัดประเภทของข้อมูล ระดับความสำคัญของข้อมูล ระดับชั้นความลับของข้อมูล การเข้าถึงและช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลของระบบงานที่มีความสำคัญ ฯลฯ
2. การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย จากการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบรายจ่าย รายได้ การจัดให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและการบริหารทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 3,377 หน่วยงาน รวม 6,532 รายงาน/สัญญา/ประกาศ/เรื่อง พบข้อบกพร่อง รวม 3,582 รายงาน/สัญญา/ประกาศ/เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 54.84 ของรายงาน/สัญญา/ประกาศ/เรื่องที่ตรวจสอบ โดยมีข้อบกพร่องสำคัญที่ตรวจพบ อาทิ การคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รายละเอียดสัญญาหรือข้อตกลงไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่รัดกุม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือเงื่อนไขที่กำหนด ไม่มีการรายงานความจำเป็นในการจัดหา หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบ จัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ฯลฯ รวมมูลค่าความเสียหายจากการที่ต้องชดใช้เงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงานและความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,726.33 ล้านบาท
3. การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ จำนวน 144 หน่วยงาน รวม 135 เรื่อง/โครงการ มีข้อตรวจพบจำนวน 123 เรื่อง/โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 91.11 และได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการ มิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,986.39 ล้านบาท
โดยปรากฏข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนด การจัดกิจกรรมขาดความต่อเนื่อง ไม่ครบถ้วน ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด เช่น การดำเนินงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ไม่มีการติดตามประเมินผล หรือมีระบบติดตามประเมินผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ด้านความคุ้มค่า เช่น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ผลผลิตหรือทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผลผลิตของโครงการไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า นอกเหนือจากผลงานด้านการตรวจสอบซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สตง. แล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สตง. ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่คณะมนตรีองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) และเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ของหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear – Test-Ban Treaty Organization : CTBTO) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEAN Supreme Audit Institutions : ASEANSAI) รวมถึงมีการเผยแพร่ผลงาน บทความทางวิชาการต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจ และการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจ เป็นต้น
“สตง. ยังคงมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วยการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยรับตรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจเพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
อ้างอิง - สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)