ชงรัฐบาลใหม่แก้ปม เมกะโปรเจกต์ ‘คมนาคม’ สะดุด

ชงรัฐบาลใหม่แก้ปม เมกะโปรเจกต์ ‘คมนาคม’ สะดุด

ส่องเมกะโปรเจกต์ “คมนาคม” สะดุด รอรัฐบาลใหม่เคลียร์ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกสร้างงานโยธาเสร็จ 100% แต่เดินรถไม่ได้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวรอรัฐบาลหนุนงบล้างหนี้ 7 หมื่นล้าน รถไฟความเร็วสูงอีอีซีรอแก้สัญญา พร้อมดันประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2 และทางด่วนเส้นใหม่

การลงทุนภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีการลงทุนเมกะโปรเจกต์มาตอเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประสบปัญหาการประมูลโครงการขนาดใหญ่ และสามารถประมูลรถไฟฟ้าได้เพียงเส้นทางเดียว คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ในขณะที่รถไฟฟ้าในภูมิภาคถูกขยับแผนการลงทุนออกไป หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งการให้ไปศึกษาโครงการใหม่

โครงการพัฒนาระบบรางในช่วงที่ผ่านมาจึงมีหลายปัญหาที่ถูกส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่พ่วงสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์ดีที่สุด แต่เป็นการประมูลที่ถูกตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น หลักเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะประมูล ข้อเสนอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง การกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูลที่อาจเข้าลักษณะการกีดกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปสถานะโครงการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% (ข้อมูล มิ.ย.2566) แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนนั้น แม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกแตกต่างจากการประกวดราคาครั้งแรก ซึ่งล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 11 ก.ค.2566

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ได้ลงนามสัญญาและเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปี 2561 ซึ่งตามแผนของ รฟม.ก่อนหน้านี้มีเป้าหมายเปิดให้บริการประชาชนภายในปี 2566 แต่เนื่องจากปัจจุบันสัญญาเดินรถไฟฟ้ายังคงไม่ได้ข้อสรุป จึงเป็นที่แน่นอนว่ากำหนดการเปิดเดินรถจำเป็นต้องล่าช้าออกไป 

นอกจากนี้ ในเบื้องต้นหากได้ข้อสรุปสัญญาร่วมลงทุน และมีการลงนามสัญญาได้ภายในปี 2566 รฟม.คาดการณ์ว่าจะเร่งให้เอกชนลงทุนวางระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี รวมถึงการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า เพื่อเปิดบริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีภายในปี 2568 ภาพรวมโครงการนี้จึงล่าช้าจากแผนประมาณ 2 ปี

  • กทม.ขอเงินรัฐจ่ายหนี้7.8หมื่นล้าน

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังติดปัญหาภาระหนี้คงค้างกับเอกชนคู่สัญญารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีภาระที่ต้องรับโอนบริหารโครงการจาก รฟม.ซึ่งต้องชำระค่างานโยธาก่อสร้างส่วนต่อขยายรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 63,000 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยที่ไม่จ่ายไปจนถึงปี 2572 ประมาณ 70,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้จากภาระหนี้ข้างต้นนั้น ส่งผลให้ กทม.ยังไม่สามารถรับโอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมาดูแลได้ และเป็นผลทำให้ กทม.ยังไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันเมื่อยังไม่มีรายได้ค่าโดยสาร ทำให้ กทม.ยังคงไม่มีเงินไปชำระหนี้ต่อภาคเอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้า และเกิดปัญหาฟ้องร้องในชั้นศาลปกครองอยู่ในขณะนี้ 

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565ให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดชำระเงินให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 11,755 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ดำเนินการอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า กทม.ทำสัญญากับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดังนั้น เอกชนไม่มีสิทธิมาฟ้องค่าเสียหายจาก กทม.

อย่างไรก็ดี การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่พบว่า กทม.มีภาระหนี้รวมวงเงินประมาณ 78,000 ล้านบาท ไม่รวมส่วนของดอกเบี้ย โดย กทม.ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่ง ครม.ไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด ทำได้เพียงรับทราบเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลใหม่พิจารณา

ในขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ กทม.ยังไม่ได้จ่ายหนี้ให้กับภาคเอกชน คงต้องรอดูแนวทางรัฐบาลหน้า เพราะเรื่องที่เสนอนั้นเป็นการขอเงินสนับสนุนต้องใช้งบประมาณ ซึ่งรัฐบาลรักษาการอาจจะตัดสินใจไม่ได้ ส่วนเรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมรนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ที่กำหนดให้เจรจาสัมปทานแลกหนี้ คงต้องรอรัฐบาลหน้าในการหารือเพื่อหาข้อยุติเช่นกัน ขณะเดียวกันเรื่องนี้ต้องรอการพิจารณาจากสภา กทม.เพื่ออนุมัติงบประมาณไปจ่ายหนี้ให้เอกชนด้วย

  • รอเคลียร์สัญญาไฮสปีด“ซีพี”

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยภาพรวมในขณะนี้โครงการล่าช้ากว่าแผนมาแล้วกว่า 2 ปี ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากเอกชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

นอกจากนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปของการก่อสร้างโครงการทับซ้อนระหว่างรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดสามสนามบินในการลงทุนก่อสร้าง และภาครัฐจะมีการทยอยจ่ายเงินค่าก่อสร้างทดแทน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท.และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) และเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยปัจจุบันเมื่อการเจรจายังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้การแก้ไขสัญญายังไม่สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณา

  • ลุ้นเคาะลงทุนรถไฟทางคู่เฟส2

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ระบุว่า แผนลงทุนรถไฟทางคู่เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบขนส่งทางรางในขณะนี้คงต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาผลักดันเส้นทางที่มีศักยภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทางยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าทุกเส้นทางมีความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ แก้ไขปัญหาคอขวดของแนวเส้นทาง โดยเส้นทางที่มีความพร้อมและมีความเป็นไปได้ในการผลักดันส่วนแรก คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงินลงทุนกว่า 29,700 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางนี้จะสนับสนุนการขนส่งสินค้า และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง มีวงเงินลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 

1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 26,600 ล้านบาท

2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท 

3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท 

4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท

5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท 

6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท 

7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท

  • กทพ.ดันประมูลทางด่วนใหม่

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กพท.มีโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 และเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อขออนุมัติดำเนินการ อาทิ โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 35,800 ล้านบาท 

รวมไปถึงโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูญกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก กทพ.ระบุว่า การประมูลโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงิน 17,811 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2566 ไม่มีเอกชนยื่นซองประมูล เพราะมองว่ามีผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ซึ่งทำให้ กทพ.ต้องทำรายละเอียดโครงการใหม่ โดยรวมช่วง “กะทู้-ป่าตอง” และ “ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้” เพื่อจูงใจลงทุนมากขึ้น