ก.พาณิชย์ บูรณาการสถาบันการศึกษา ภาครัฐ-ภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรมยางพารา
ก.พาณิชย์ บูรณาการสถาบันการศึกษา ภาครัฐ-ภาคเอกชน เน้นต่อยอดการวิจัยควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความหลากหลายและโดดเด่นให้สินค้าจากยางพาราไทยเมื่อต้องแข่งขันในตลาดโลก
สินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วโลก ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางแปรรูปอันดับ 1 ของโลก โดยประเทศไทยมีการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางเฉลี่ยปีละ 590,000 ล้านบาท ในปี 2565 ไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 658,000 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 200,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยสร้างมูลค่าและสร้างความหลากหลาย และเพิ่มนวัตกรรมให้แก่สินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมยางมีบทบาทสำคัญในการขยายมูลค่าส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราจากประเทศไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันที่มีความแข็งแกร่งด้านการพัฒนาวิจัยยางพาราโดยเฉพาะ จึงเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาเติมเต็มด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพของยางพาราธรรมชาติ เพื่อนำไปต่อยอดสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราหลากหลายประเภทให้แก่ผู้ประกอบการไทย รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมยางพาราไทย โดยมีกระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนด้านการตลาดอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กยท. อัดงบ 10,000 ต่อไร่ หนุน ชาวสวนยางปลูกกาแฟ
ครม. ไฟเขียว “ ประกันรายได้ยางพารา" ปี 4 เกษตรกร 1.6 ล้านรายเฮ
ส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมุ่งดำเนินการ คือ การพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้แก่สินค้าเกษตรของไทย ซึ่งยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวม
ดังนั้นการขยายช่องทางตลาดและการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้ายางพาราของไทย รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การบูณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตร จะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายช่องทางการค้า ตลอดจนลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
ความร่วมมือในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำหนดจัดโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา โดยมีแผนดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2566 ซึ่งมี 3 กิจกรรมภายใต้โครงการ ประกอบด้วย
• กิจกรรม Natural Rubber Innovation Matching Day ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 11 บริษัท 19 ราย มีการเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกกับนักวิจัย จำนวน 11 คู่ ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมยางพาราที่น่าสนใจ อาทิ วัสดุดูดซับแรงกระแทกผลิตจากยางพารา โฟมยางที่ผสมซีโอไลต์เพื่อลดการลามไฟ กระบวนการเตรียมยางรีไซเคิลหรือยางดีวัลคาไนซ์จากเศษถุงมือยางธรรมชาติ อุปกรณ์จำลองทางการแพทย์สำหรับฝึกฉีดยาอินซูลิน เป็นต้น
ไฮไลท์กิจกรรมบูรณาการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพารา
• งานแถลงข่าวและพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์
• กิจกรรม Natural Rubber Innovation Matching Day ครั้งที่ 2 มีกำหนดจัดในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
โดยเป้าหมายสำคัญในการดำเนินโครงการฯ จะก่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้สินค้านวัตกรรมยางพาราจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย และภาครัฐ ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงลดภาระด้านการลงทุนและประหยัดเวลาในการวิจัยและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยสามารถนำงานวิจัยยางพารามาต่อยอด สร้างความหลากหลาย และผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ประกอบการและบริษัทที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม Natural Rubber Innovation Matching Day ครั้งที่ 2 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30-16.30 น. ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมการจับคู่เจรจาการค้าหรือขอรับการปรึกษาเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจกับนักวิจัย / ผลงานวิจัย เพื่อนําไปผลิตและทําตลาด