‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6% คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6%  คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

น่าเป็นห่วง - ฉุดเศรษฐกิจซ้ำ! สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” ยังไม่พ้นขีดอันตราย “แบงก์ชาติ” ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนแตะเพดาน 80 เปอร์เซ็นต์ เผย 2 ใน 3 เป็น “สินเชื่อไม่ก่อผล” เงินกู้ - บัตรเครดิต - ใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง ต้องแก้ทั้งห่วงโซ่รวมแบงก์ - ผู้กู้ด้วย

Key Points:

  • “หนี้ครัวเรือน” กลับมา แตะที่ระดับ 90.6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี สูงกว่าเพดานที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี สะเทือนความสามารถในการใช้จ่าย ฉุดเศรษฐกิจเติบโตยาก
  • ปัจจัยที่ทำให้มีหนี้ครัวเรือนสะสมเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ สินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เงินออมในครัวเรือนหมดลงนำไปสู่การก่อหนี้เพิ่มขึ้น สำหรับบางรายที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ นำไปสู่ “หนี้เสีย” อีกทอด
  • ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีรายจ่ายมากกว่ารายได้มาโดยตลอด และมีหนี้มากถึงหลักแสนบาทต่อครัวเรือน มากกว่ารายได้จากการทำงานเกือบสิบเท่า


“หนี้ครัวเรือนไทย​” ปัญหาระดับวาระแห่งชาติที่ยังยืดเยื้อ-คาราคาซังมาแรมปี โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับ “วิกฤติ” คือ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แตะระดับที่ 90.6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2566 ลงลึกในรายละเอียดพบว่า คนไทยกว่า 1 ใน 3 มีหนี้ และสัดส่วนคนที่มีหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในจำนวนผู้มีหนี้ทั้งหมด มีมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ที่มีหนี้เกิน 100,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ยังพบว่า มีหนี้หลายบัญชีด้วยกัน เฉลี่ยแล้วคนไทยมีหนี้สูงสุดถึง 4 บัญชีต่อคน

และเมื่อเทียบเคียงกับบรรดาประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ และเยอรมนี อัตราหนี้สินของคนไทยสูงกว่าทั้งสองประเทศด้วยซ้ำไป โดยคนไทยเป็นหนี้ทั้งการกู้ในระบบ และนอกระบบ แบ่งออกเป็นหนี้ในระบบรวม 15.96 ล้านล้านบาท และหนี้นอกระบบอีก 1 ล้านล้านบาท

“หนี้ครัวเรือน” ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ตัวเลขหนี้ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบโดยตรงกับการเติบโตของประเทศแบบองค์รวม “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปไล่เลียงถึงปัญหา สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงทางออกเพื่อหลุดพ้นจากวังวนการก่อหนี้

‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6%  คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

  • มาตรการสนับสนุนการก่อหนี้ วินัยทางการเงิน และเคราะห์ซ้ำจากโรคระบาด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า มีสาเหตุสำคัญหลายประการที่ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อซึ่งเกี่ยวโยงกับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ โดยพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ถือบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) มีบัญชีการทำธุรกรรมมากถึง 4 บัญชี วงเงินรวมกัน 10-25 เท่าของรายรับ ขณะที่มาตรฐานการอนุมัติวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินหลายประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 5-12 เท่าของรายรับเท่านั้น 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในของภาครัฐยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นดีมานด์แบบ “Short-cut” อย่างนโยบาย “รถคันแรก” ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้มีการกำหนดลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ลากยาวมาจนถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ เพื่อดึงอุปสงค์ภายในประเทศ

ทั้งนี้เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีย้อนหลังจะพบว่า กราฟเริ่มชันขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีสัดส่วนที่ 85.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 72.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อต้นปี พ.ศ.2555 แม้ในช่วงระยะเวลานั้นการเมืองไทยจะยังคุกรุ่นจากเหตุการณ์รัฐประหารปี พ.ศ.2557 แต่ภาคประชาชนยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่เรื่อยมา ระดับหนี้ครัวเรือนไม่เคยลงไปแตะที่ระดับปลอดภัยคือ 80 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีอีกเลย และทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนพอกพูนมากขึ้น

ช่วงวิกฤติโควิด-19 เปรียบเหมือน “ระเบิดซ้ำ” นำไปสู่ฉากทัศน์อันเลวร้าย คนทำงานสูญเสียรายได้-ตกงานกะทันหัน ผู้ประกอบการรายเล็กถึงขั้นปิดกิจการถาวรก็มี ส่วนในภาพใหญ่รายได้จาก “ภาคการท่องเที่ยว” เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวหลักต้องหยุดชะงัก ส่งออกตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ แรงบีบอัดจากทุกทิศทางทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับตัวสูงต่อเนื่อง เมื่อรายได้ลด เงินออมหดหายไปกับช่วงวิกฤติ การกู้ยืม-ขออนุมัติสินเชื่อจึงเป็นทางออกให้กับคนตัวเล็กที่ไม่มีทางเลือก แม้รู้ดีว่า หนี้ที่สะสมเพิ่มขึ้นจะยิ่งกดทับความสามารถทางการเงินในอนาคตก็ตาม

  • สินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิตนำโด่ง สวนทางประเทศพัฒนาแล้วเป็นหนี้ “บ้าน-รถ”

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.2565 ระบุว่า 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ ประกอบไปด้วยหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล 39 เปอร์เซ็นต์ และหนี้จากบัตรเครดิต 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างบ้าน หรือการกู้ยืมเพื่อธุรกิจกลับมีสัดส่วนเพียงอย่างละ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

หากข้ามไปดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐ และอังกฤษ จะพบว่า สัดส่วนหนี้ส่วนใหญ่เป็น “หนี้บ้าน” แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะใกล้เคียงกับอังกฤษที่มีหนี้ครัวเรือน 91 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แต่มูลค่าหนี้ของบ้านเราเอนเอียงมาทางหนี้ที่ไม่ก่อผล-ใช้แล้วหมดไป สถานการณ์หนี้ของคนไทยในขณะนี้จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งอีกแง่มุมหนึ่งก็สะท้อนว่า คนไทยมีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นอย่าง “สินเชื่อบ้าน” ที่ต้องอาศัยเครดิตในการขออนุมัติด้วยน้ำหนักที่มากกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ค่อนข้างสูงว่า กว่า 2 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนไทยมาจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อที่ใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ รายงานจากสำนักงานเครดิตแห่งชาติยังระบุด้วยว่า ผู้กู้มีการชำระเงินล่าช้ามากขึ้นทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากผู้กู้จำนวนมากใช้เงินออมจนไปหมดแล้วในช่วงวิกฤติโควิด-19

สุวรรณีให้ความเห็นต่อว่า สินเชื่อกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ฝั่งแบงก์ชาติกำลังเร่งหารือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น กำหนดมาตรการกำกับการอนุมัติสินเชื่อแก่สถาบันทางการเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ส่งผลกระทบถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งหากสถานการณ์เช่นนี้ยังลากยาวต่อไปจะยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมแบบ “โดมิโน” ทั้งระบบ

กล่าวคือ ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นแปรผันตรงกับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ เมื่อผู้กู้ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ภาระหนี้จะตกมายังสถาบันทางการเงินเกิดเป็น “หนี้เสีย” (Non-Performing Loan หรือ NPL) ก้อนยักษ์ ซึ่งขณะนี้ “แบงก์พาณิชย์ไทย” มีมูลค่าหนี้เสียสูงสุดในอาเซียนด้วย

‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6%  คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

  • รายจ่ายมากกว่ารายได้ หนี้พอกพูน ฉุดรั้งเศรษฐกิจโตยาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนประจำปี พ.ศ.2564 พบว่า รายได้ที่มาจากงานประจำในปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ 18,255 บาทต่อครัวเรือน ลดลงจากปี พ.ศ.2563 ที่มีรายได้เฉลี่ย 18,493 บาทต่อครัวเรือน และหากไล่เลียงย้อนหลังไปจนถึงปี พ.ศ.2554 จะพบว่า รายได้จากการทำงานของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเพียง 8.41 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทั้งนี้ ยังมีรายได้อื่นๆ เข้ามาอุดรอยรั่วเพิ่มเติมด้วย อาทิ เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการช่วยเหลือๆ ต่าง เงินชดเชยโควิด-19 เงินเยียวยาโควิด-19 ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งประเทศในปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ 21,616 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมากที่สุด เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ครัวเรือนละ 18,802 บาท หากดูตัวเลขรายได้ และค่าใช้จ่ายก็อาจพอเห็นภาพว่า ทั้งสองส่วนไม่สอดคล้องกันนัก จึงทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปี พ.ศ.2564 มีมากถึง 205,679 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งตัวเลขหนี้มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนทั้งสิ้น

‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6%  คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

-เครดิตภาพ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ-

นอกจากหนี้เพื่อการกินอยู่ในครัวเรือนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือ สัดส่วนหนี้ของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบว่า คนรุ่นใหม่หรือ “First Jobber” ที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นานมีหนี้เร็วขึ้น ทั้งยังเป็นกลุ่มก่อให้เกิด “หนี้เสีย” มากที่สุดด้วย ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า 1 ใน 2 ของคนรุ่นใหม่วัยทำงานเริ่มมีหนี้สินกันแล้ว และแนวโน้มในลักษณะนี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นจัดอยู่ในประเภทของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ กลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนหนี้สูงสุดถึง 41 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า หากทำงานหาเงินมาได้ 100 บาท คนกลุ่มนี้ต้องควักกระเป๋าจ่ายหนี้ไปแล้ว 41 บาท ทำให้มีเงินเหลือเก็บน้อยมาก ติดอยู่ในวังวนหนี้ไม่จบสิ้น พูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ สถานการณ์ของครัวเรือนไทย ณ ขณะนี้ มีความสามารถเสมอตัว การจะขยับสถานะทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก เมื่อมีรายได้น้อย หนี้เยอะ การจับจ่ายทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง จะหวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในเชิงภาพใหญ่แล้ว ขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวยิ่งน่ากังวลมากขึ้นไปอีก “หนี้ครัวเรือน” จึงเปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่หากไม่รีบแก้ไขในเชิงรุกจะยิ่งส่งผลให้รอยถากระหว่างคนจน-คนรวยขยายออกไปเรื่อยๆ ลุกลามสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ยิ่งในอนาคต ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ด้วยแล้ว สัดส่วนคนทำงานน้อยกว่าคนชราจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้น

‘หนี้ครัวเรือน’ แตะ 90.6%  คนไทยรับบท ‘เดอะแบก’ หนี้ท่วม รายจ่ายสิบเท่า

  • แบงก์ทำงานเชิงรุก ผู้กู้ต้องปรับตัว

แบงก์ชาติมองว่า หนี้ในระดับสูงอาจเป็น “ภัยคุกคาม” สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้ในเร็ววัน จึงวางแผนค่อยๆ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างบรรยากาศให้ “ผู้กู้” กู้น้อยลง และนำเงินมาฝากมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันได้มีการผลักดัน-เพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อหลังการระบาดใหญ่จบลง

นอกจากนี้ “แบงก์ชาติ” ยังวางแผนที่จะกลับไปแก้ปัญหาแบบ “สุมหัวคิด” ร่วมกับภาคประชาชนคือ การปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มเปราะบางแทนการใช้มาตรการผ่อนปรนกับทุกกลุ่ม รวมถึงการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย

สำหรับภาคประชาชน แบงก์ชาติมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับพฤติกรรมของผู้กู้ และผู้ให้กู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้แน่ใจว่า เราจะมีหนี้ที่มีคุณภาพดี ลดระดับหนี้ในระยะยาวลงได้ เพราะถึงอย่างไรแบงก์ชาติก็ยังมองว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการที่รัดกุมเคร่งครัดเพื่อลดระดับหนี้ลงแบบฉับพลันได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบมากกว่า

ส่วนในมุมของประชาชนเอง หากยังไม่เป็นหนี้ และกำลังตัดสินใจก่อหนี้ ให้เริ่มจากการวางแผนการออมเงินให้ดี ทบทวนตลอดสัญญาว่า เรามีกำลังจ่ายไหวหรือไม่ เตรียมแผนการรองรับหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ไปต่อไม่ไหว เมื่อเป็นหนี้แล้วจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา ไม่จ่ายขั้นต่ำ และพยายามโปะหนี้เมื่อมีเงินก้อนถือในมือ

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2Bloomberg 3BOTMGR OnlinePPTVProjects PierReport NSONSOThai PBS

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์