ส่งออกไทย‘ครึ่งปี’ติดลบ5.4% เร่งทำตลาดสู้เศรษฐกิจคู่ค้าถดถอย
ส่งออกไทยยังอาการหนัก มิ.ย.ติดลบ 6.4 % ต่อเนืองเดือนที่ 9 ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว คาดเดือนก.ค.พลิกกลับเป็นบวก ดันส่งออกทั้งปีได้ตามเป้าโต 1-2%
การส่งออกไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยติดลบเป็นเดือนที่ 9 นับจากเดือน ต.ค.2565 และปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ชะลอตัวมาจากผลกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ แรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.2566 มีมูลค่า 24,826 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ติดลบ 6.4% และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ติดลบ 2.9% และการนำเข้ามีมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.3% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 ติดลบ 5.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 2.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 147,477 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.5% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,307.6 ล้านดอลลาร์
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน มิ.ย.ติดลบ 6.4% มาจาก ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซา จากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว
ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด รวมทั้งคู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้
รวมถึงกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย
“แม้ส่งออกจะยังติดลบ แต่เราลบน้อยกว่าประเทศอื่น อย่าดูแค่ตัวเลขติดลบ เพราะมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 25,300 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ สาเหตุที่ส่งออกเดือน มิ.ย.ติดลบ 6.4% เพราะเดือนนี้เมื่อปีก่อน ฐานสูงที่ 26,521 ล้านดอลลาร์ อยากให้ดูในเชิงมูลค่ามากกว่า เดือนนี้ทำได้ 24,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าน่าพอใจในการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งหากเทียบประเทศอื่นแล้วติดลบมากเรา เรายังอาการน้อยกว่า” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออก คือ
1.ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต
2.การได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต
3.การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตของการท่องเที่ยว และปัญหาวัตถุดิบที่คลี่คลายลง ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
ส่วนรายละเอียดการส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 8.6% โดยสินค้าเกษตร ลด ลง 7.4% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 10.2%
สินค้าเกษตรที่หดตัว เช่น ข้าว ลดลง 15% หดตัวในรอบ 6 เดือน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ แอฟริกาใต้ อิรัก ฮ่องกง และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน โมซัมบิกและเกาหลีใต้
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลดลง 16.7% หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล จีนและกัมพูชา
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 16.7% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยเฉพาะในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐ แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม
สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 4.6% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลดลง 21.7% , เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง 20.1% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลง 9%
สินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 7.2% , แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 5.3% , อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้น 31.2% , อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่มขึ้น 68.7%
ขณะที่การส่งออกสินค้าไปตลาดสำคัญ พบว่า ตลาดสหรัฐ ลดลง 4.8% , อาเซียน 5 ประเทศ ลดลง 18% และสหภาพยุโรป ลดลง9% , CLMV ลดลง 23.1%
ตลาดจีน เพิ่มขึ้น 4.5% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 2.6% ตลาดรอง ลดลง 2% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 17.5% ตะวันออกกลาง 8.6% แอฟริกา 8.5% ลาตินอเมริกา 10.2% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 9.7%
ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น โดยหากได้เฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะทำให้ทั้งปีได้เป้าหมาย 1-2% ซึ่งเป็นเป้าทำงานก็มีความเป็นไปได้ และการส่งออกตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป น่าจะเห็นตัวเลขกลับมาเป็นบวกได้ เพราะฐานปีก่อนต่ำและคู่ค้ายังต้องการสินค้าไทย
รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเร่งผลักดันการส่งอออกร่วมกับภาคเอกชน โดยเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบ 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด , ไทย-กัมพูชา 7 จุด , ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเซีย 9 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงค่าเงินบาทอยู่ระดับแข่งขันได้ และมีความกังวลในการขาดแคลนอาหารที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หากจะผลักดันตัวเลขการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัว 1% จะต้องทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี จะต้องทำมูลค่าส่งออกให้เกินเดือนละ 24,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากมูลค่ายังทรงตัวก็มองว่าเดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้ที่จะติดลบ และการส่งออกในเดือน ก.ค.นี้ น่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้เป็นเดือนแรกอย่างแน่นอน