ม.หอการค้าฯ ชี้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 5.59 แสนต่อครอบครัว สูงสุดรอบ 15 ปี
ม.หอการค้าฯ ชำแหละหนี้ครัวเรือนไทย "คนไทย" แบกหนี้ครอบครัวละ 5.59 แสน สูงสุดรอบ 15 ปี คน 54% ชี้หนี้สูงกว่ารายได้ ภาระผ่อนทะลุ 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 1300 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาว่าผลสำรวจเรื่องหนี้ครัวเรือนล่าสุดยังสะท้อนปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤติสงครามการค้าในปี 2562 วิกฤติโควิดในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแต่ยังถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น เมื่อรวมกับปัจจัยในเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้รายจ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนต้องมีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย
โดยข้อมูลการสำรวจพบว่าประชาชนพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้ในปีนี้อยู่ที่ 99.8% และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้มีเพียง 0.2% ขณะที่วงเงินที่ครัวเรือนมีหนี้โดยเฉลี่ยถือว่าสูงที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 559,408.7 บาทต่อครัวเรือน มีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเฉลี่ยที่ 16,742 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 31.2% ระบุว่าในปัจจุบันเป็นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
นอกจากนั้นข้อมูลการสำรวจยังระบุว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้น้อกว่ารายจ่ายถึง 65.8% ขณะที่อีก 32% บอกว่ามีรายได้และรายจ่ายเท่ากัน ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายนั้นมีเพียง 2.2% ซึ่งรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่ายทำให้มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบันประมาณ 41.7% ระบุว่าจะมีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย โดยมีแหล่งเงินที่ตัดสินใจกู้ยืมได้แก่ การกดเงินสดจากบัตรเครดิต 29.1% การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 18.8%
การกู้เงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 17.2% ที่เหลือตัดสินใจที่จะกู้ยืมเงินจากนายทุน 9.9% กู้เงินจากสหกรณ์ 9.4% และบริษัทที่ให้สินเชื่อ 8.9% และกู้ยืมจากญาติพี่น้อง 6.7% ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินหลายส่วนนั้นเป็นการกู้ยืมเงินในระบบซึ่งเพิ่มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยให้สูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มที่ประชาชนจะยังมีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจพบว่าประชาชนกว่า 60.4% มองว่าสถานการณ์ในอนาคตหนี้จะยังคงเพิ่มสูงกว่ารายได้ แต่ประชาชนบางส่วนกล้าที่จะกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน และรถยนต์
ขณะที่บางส่วนก็มีการกู้ยืมเงินเพื่อขยายธุรกิจส่วนตัว ซึ่งคาดว่าแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นไปจนสุดในปี 2567 ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวลดลงแต่ช่วงกลางปีเนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโอกาสที่เกิดขึ้นภายหลังที่หลายประเทศประกาศงดส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรบางชนิดซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ก็จะช่วยลดความจำเป็นในการกู้หนี้ยืมสินของประชาชนก็จะลดลงตั้งแต่กลางปีหน้า ขณะที่ในภาพรวมของเศรษฐกิจการขายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยลดลง