'ไทยจับมือเวียดนาม' หนุนสตาร์ทอัป วางรากฐานวาดอนาคตแห่งภูมิภาค
'ไทยจับมือเวียดนาม' หนุนสตาร์ทอัป วางรากฐานวาดอนาคตแห่งภูมิภาค ปี 2566 ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยและเวียดนาม ที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้ฉลองครบรอบ 10 ปีของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของอดีตประธานาธิบดีเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและเวียดนามได้ลงนามความตกลง 5 ฉบับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงนามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งไทย-เวียดนามในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565-2570) และบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม ซึ่งจะทำให้การผลักดันความเข้มแข็ง ครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทางคมนาคม การเงินการธนาคาร และเศรษฐกิจดิจิทัล นำไปสู่การจัดงานสัมมนา “THAILAND-VIETNAM BUSINESS FORUM 2023: กระชับความสัมพันธ์ไทยเวียดนามภายใต้แนวคิด ‘1+1 = Zero Boundary’”
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย– เวียดนาม กล่าวว่า ปีนี้สมาคมเน้นเรื่องความร่วมมือและความสัมพันธ์สำหรับ กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัปเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง ประ2 เทศในภาคประชาชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและขับเคลื่อนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงมิติในด้านการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป
“ปีนี้ที่เราเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่และกลุ่มสตาร์ทอัป ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นแค่หัวใจและวิญญาณของเศรษฐกิจในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มที่จะพาทั้ง 2 ประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการสร้างนวัตกรรมอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้การลงทุนในเวียดนามไปได้ดี มีความชัดเจนโดยเฉพาะด้านการเมืองที่นิ่ง เศรษฐกิจยังโตต่อไปได้”
รวมทั้งการเร่งอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันตามแนวทาง Three Connects คือ 1. การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในสาขาที่เกื้อกูลกัน 2.การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสานของไทยกับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม และ 3.การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะ BCG กับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม
“เราได้ให้ความสำคัญกลุ่ม startup และกลุ่ม Young Entrepreneur ที่จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้และจัดให้มี Networking ระหว่างผู้ประกอบรุ่นใหม่ของไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2025 จะมีการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นให้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะช่วยให้ทะลุเป้าหมายแน่นอน”
ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน อุปนายกและประธานฝ่ายกลยุทธ์ สมาคม Thai Startup กล่าวว่า หากไทยได้ผนึกพาร์ทเนอร์อย่างเวียดนามจะช่วยสร้างเศรษฐกิจ โดยหวังว่าปีหน้าจะร่วมสร้างเศรษฐกิจอาเซียนด้วยกัน ไทยมีการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอันดับที่ 1 ของโลก หากเทียบสัดส่วนประชากร เล่นเกมอันดับ 2 ของโลก ใช้เวลาบนมือถืออันดับ2 ของโลก จ่ายผ่านโมบายเพย์เมนท์อันดับ 2 ของโลก ที่มีการสั่งซื้อของออนไลน์ทุกสัปดาห์ จึงอยากเปลี่ยนไทยจากผู้เสพเป็นผู้สร้าง
“สตาร์ทอัปไทย 200 ราย สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึง 30,000 ล้านบาท ถ้าเราสนับสนุนคนให้ทำธุรกิจตอบโจทย์ประเทศตลาดที่มีอยู่แล้วยังมีโอกาส จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยกับเวียดนามโตไปในทิศทางเดียงกัน เพราะมีหลายส่วนที่เกื้อหนุนกัน หากร่วมมือจะลดความซับซ้อน ช่วยขับเคลื่อนเศรฐกิจร่วมกัน”
ทั้งนี้ ปี 2040 อาเซียนจะเป็นตลาดที่ใหญ่สุดอันดับที่ 4 ของโลก ดังนั้น คนไทยไม่ต้องไปไหนและต้องเป็นนักสร้างเพื่อรับตลาด ซึ่งในเชิงอินฟราสตรัคเจอร์ไทยคอนเน็กเวียดนามและไปอีกหลายประเทศ หากไทยกับเวียดนามรวมตลาดกันจากการที่เวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและไทยทำเงินได้
กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คนไทยพูดคุยบนโซเชียลสูงถึง 75% ดังนั้น ข้อมูลต่าง ๆ ผู้บริหาร นักการตลาด วิเคราะห์ได้ สมัยก่อนการตลาดทำปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนนี้พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา จะเห็นได้จากหากศิลปินยกสินค้า 1 ชิ้น ไม่กี่นาที ก็สามารถทำให้ของหมดลงได้ นั่นคือการใช้ซอฟแวร์ที่มีมาตรฐาน
“การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกต้องจะช่วยให้เราเดินทางข้ามประเทศได้ เพราะการบริโภคข้อมูลท้องถิ่นมีความจำเป็นมากเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยและเวียดนาม การท่องเที่ยวสามารถทำเงินมหาศาล คนรุ่นใหม่สามารถเข้าร้านกาแฟ 15 ร้านต่อวัน เพียงถ่ายรูปและอัพลงโซเชียลพร้อมกับเก็บภาพไว้ใช้ในวันอื่น ๆ คนอายุ 35 ปี ขึ้นไปซึ่งมีกำลังใช้จ่ายสูง ชอบเข้าวัด ข้อมูลดังกล่าวจะสร้างมูลค่าได้อีกมหาศาล ดันนั้นการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปเซาท์อีสเอเชีย”
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตมั่นคง จะเห็นได้ว่าก่อนเกิดโควิดโต 7.1% ช่วงโควิดโต 2.7% และหลังโควิดโต 8% ถือว่ามีการพัฒนาอย่างมั่นคงและรวดเร็ว เพราะความต้องการใช้สินค้า โดยมากกว่า 50% มาจากขายปลีก ดังนั้น ตลาดการขายปลีกอยู่ทั้งในและต่างประเทศ เวียดนามมากกว่า 70% ใช้โซเชียลติดต่อค้าขาย
นอกจากนี้ เวียดนามจะมีการใช้โซเชียลโตถึง 28% ถือว่าสูงสุดหากเทียบกับกลุ่มภูมิภาค ซึ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยมากกว่าเวียดนาม 2 เท่า และกำลังจะพัฒนาเทียบเท่าไทย โดยสาขาที่พัฒนาก้าวกระโดด คือ ความสวยความงาม คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบัาน แฟชั่น เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามแข่งสูง ไม่ถึงจุดอิ่มตัว ผู้บริโภคพร้อมจ่าย มูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ 7% ของมูลค่าทั้งหมด จึงยังไปอีกไกล
“อนาคต”ที่ดี ต้องเริ่มจาก“ปัจจุบัน” ซึ่งความพยายามระหว่างไทยและเวียดนามที่จะนำคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพมาขับเคลื่อนปัจจุบันให้ก้าวสู่อนาคตที่มีมั่นคงร่วมกันนั้นนับเป็นแนวทางการทำงานที่น่าจับตามอง