‘เบี้ยสูงอายุ’ โจทย์ใหญ่ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ตั้งงบฯดูแลคนชรา 3 แสนล้าน/ปี
“เบี้ยสูงอายุ” ป่วนรัฐบาลเพื่อไทย จ่อเผชิญโจยท์หินเพิ่มงบดูแล ขณะที่ ครม.รักษาการถกวาระปรับเกณฑ์จ่ายเฉพาะคนจน หวั่นปี 2568 งบประมาณทะลุ 1 แสนล้านบาท “จุติ” เผยจ่ายเดือนละ 3 พันบาท ต้องเพิ่มเงินอีก 9 เท่า นายกฯ โยนรัฐบาลใหม่กำหนดเกณฑ์ผู้มีสิทธิ
งบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในเหตุผลของการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยกระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ใช้วันที่ 12 ส.ค.2566
การแก้ไขระเบียบดังกล่าวได้เปลี่ยนคุณสมบัติผู้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปลี่ยนเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนด
สำหรับการแก้ระเบียบนี้ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่งผลให้หลายพรรคการเมืองออกมาวิจารณ์รัฐบาลรักษาการอย่างหนัก ถึงการใช้เกณฑ์ความยากจนเป็นตัวกำหนด แทนการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า
ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลมีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน โดยในปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 56,462 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 9.96 ล้านคน , ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 79,300 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.4 ล้านคน ส่วนปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน
ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายถึงเดือน ก.ค.2566 รวม 71,057 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน โดยมีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2566 จะมีการใช้งบประมาณรวม 86,000 ล้านบาท
- หลายพรรคการเมืองแข่งนโยบายผู้สูงอายุ
การดูแลผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคใช้หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา โดยพรรคเพื่อไทยที่กำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีแผนที่จะใช้งบประมาณสวัสดิการผู้สูงอายุ 300,000 ล้านบาท เพื่อจัดสวัสดิการผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนจ้างงานผู้สูงอายุวงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในตลาดแรงงานได้และมีรายได้หลังจากเกษียณแล้ว
ในขณะที่พรรคการเมืองที่กำลังร่วมจัดตั้งรัฐบาลต่างมีนโยบายในการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยพรรคภูมิใจไทย มีนโยบายจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต วงเงิน 37,098 ล้านบาท , พรรคประชาชาติ มีนโยบายจ่ายเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แบบถ้วนหน้า ใช้วงเงินมากกว่า 400,000 ล้านบาท
พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายเบี้ยยังชีพเดือนละ 3,000-5,000 บาท ตามช่วงอายุ ใช้วงเงิน 495,658 ล้านบาท และพรรคร่วมไทยสร้างชาติ มีนโยบายเบี้ยยังชีพเท่ากันทุกช่วงวัย 1,000 บาท ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท
- เพื่อไทยพร้อมลุยนโยบายดูแลสูงวัย
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย จึงทำเพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้ เพื่อแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในทุกมิติผ่าน ‘ชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทย’ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย
1.กระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือนร้อนให้ทุกคน
2.นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Softpower สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง ผู้สูงอายุคนเกษียณก็ยังสามารถทำงาน สร้างรายได้ มีศักดิ์ศรี
3.การเพิ่มรายได้ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ 3 เท่าตัว เพราะผู้สูงอายุและกำลังจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อยู่ในภาคเกษตร
4.การอัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
5.Learn to Earn เรียนเพื่อสร้างรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด
"รัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเพื่อไทยเห็นปัญหานี้มาโดยตลอดจึงพูดถึงการสร้างรายได้เพื่อมีรายได้มาจัดสวัสดิการโดยรัฐ”
- ครม.ถกเครียดแก้เกณฑ์จ่ายเงิน
นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ส.ค.2566 ได้หารือการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงใน ครม.ว่าผู้ได้เบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบันยังคงได้ต่อ แต่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่รัฐบาลชุดใหม่แต่งตั้งจะมาดูนิยามผู้สูงอายุที่จะได้เบี้ยยังชีพให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ซึ่งกำหนดลักษณะต้องเป็นผู้ที่ยากไร้และรายได้ไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลใหม่จะมาจัดทำเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้กำหนดตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ
นอกจากนี้นายจุติ รายงาน ครม.ทราบด้วยว่าหากยังใช้งบประมาณจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบเดิม จะทำให้ปี 2568 ภาระงบประมาณจะเพิ่มเป็นปีละ 100,000 ล้านบาท โดยยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่เป็นลักษณะเดียวกันที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ
“นายกฯบอกว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาพิจารณาวางเกณฑ์ตรงนี้”
- นายกฯย้ำต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุชุดใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุเป็นไปตามหลักการจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีข้อสำคัญอาจยังไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจก็ไม่ทราบเหมือนกันคนที่เคยได้รับอยู่แล้วก็ยังได้รับเหมือนเดิม
รวมทั้งวันนี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า สามารถดำเนินการได้ต่อไปถ้ามีงบประมาณเพียงพอเราจำเป็นต้องทำเพราะผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเรียกได้ว่าเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกันคนที่มีรายได้สูง เขาได้เสียสละมาในการที่จะดูแล อันนี้ไม่ได้ไปให้โดยตรงอยู่แล้ว ให้ผ่านทางภาษีอะไรก็ว่ากันไป
“ฉะนั้นอย่าไปฟังหลายๆ อย่างมาจากคนที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเป็นรัฐบาลแล้วนำมาพูด ผมไม่อยากจะมาตอบโต้ตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเรื่องจำเป็นถ้าเพิ่มเงินได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและงบประมาณแผ่นดินก็ควรพิจารณา โดยยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุที่จะทำให้เป็นลบ
- มท.1 ยันเกณฑ์เก่า-ใหม่ได้เหมือนเดิม
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ย้ำว่า ระเบียบใหม่กำหนดว่าการจะให้เบี้ยผู้สูงอายุจะต้องทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนด โดยรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจเพราะผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ทำหนทางไว้แล้วให้ทั่วถึงและเป็นธรรม แต่จะมากหรือน้อยไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลนี้
สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพในปัจจุบันยังคงได้รับเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่ครบอายุ 60 ปี รายใหม่ยังได้รับตามเกณฑ์เดิมในกรณีที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ใหม่ออกมา โดยประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่จะเป็นหนทางไหนจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ หากฟังจากเสียงที่ออกมาพูดกันทุกพรรค ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์
“จุติ”โยนรัฐบาลใหม่เคาะหลักเกณฑ์
นายจุติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้โยนมายัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยได้ทำตามระเบียบเพราะทุกคนไม่อยากทำผิดกฎหมาย และถ้ารัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตาม โดยยืนยันได้ ดังนี้
1.ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมทุกประการ 100% ไม่มีใครตกหล่น 2.ต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด 3.เป็นแนวทางเลือกอยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าให้ทำอย่างไร 4.ความกังวลถึงกรณีต้องคำนึงถึงคนกลุ่มอื่น เช่น เด็ก 21 ล้านคน คนพิการ 3 ล้านคน ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน
“ผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ์ 11 ล้านคน รับอยู่ 89,000 ล้านบาท มีคนที่จนจริงเพียง 4 ล้านคน ต้องถามว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัด จะเอาเงินไปช่วยคนจนที่สุดของประเทศก่อนหรือไม่ หากรัฐบาลใหม่พร้อมให้เงินเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องเก็บภาษีมาให้ได้ปีละ 720,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับงบประมาณ 8,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องไปหามาอีก 9 เท่า"นายจุติ ระบุ
นายจุติ ยืนยันว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะมากำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ครม.ชุดใหม่ ส่วนประเด็นหลักเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยเห็นว่าต้องดูรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าผู้ไม่มีรายได้เพียงพอ จะตัดที่เท่าไหร่หรือเส้นแบ่งความยากจนอย่างไร ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมีการพิสูจน์สิทธิ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐ ดังนั้นจะให้กระจายทุกกลุ่มหรือจะให้เฉพาะกลุ่ม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมองให้ครบถ้วนและคำนึงความเป็นมนุษย์ และอย่าไปคิดถึงคะแนนเสียง
กฤษฎีกาชี้เป็นเรื่องนโยบายรัฐ
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนที่รัฐบาลจะกำหนดเป็นการให้มากขึ้น ในลักษณะที่เป็นสวัสดิการนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวนโยบายรวมทั้งการกำหนดด้วยว่าจ่ายใครบ้าง
"ปัญหาในเรื่องนี้มีการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมขึ้นมาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใครที่รับเงินจากรัฐไปแล้ว เช่น บำเหน็จ บำนาญจากรัฐไปแล้ว ห้ามให้มารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่ากำหนดแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากมีอายุ 60 แล้วเป็นผู้ยากไร้นั้น กำหนดว่ารัฐต้องดูแล รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นผู้รับเงินจากแหล่งเงินอื่นของรัฐแล้วห้ามรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งหากไปกำหนดในลักษณะนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญได้
ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ จึงให้มีการออกเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นข้อ ๆ คือ เป็นคนไทยที่อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และ มีเกณฑ์ในเรื่องความยากไร้ ไม่มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ ซึ่งการดูในเรื่องของความยากไร้ของคนอาจดูในเรื่องของเกณฑ์รายได้ตามเส้นความยากจนหรือกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมาให้ชัดเจนว่าจะอ้างอิงจากส่วนไหน
อีกทั้งในกฎหมายยังกำหนดบทเฉพาะกาลว่า ใครที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงได้รับอยู่ ส่วนที่สองคือเงินที่ได้รับอยู่ไม่ได้น้อยกว่าเดิม แต่จะให้มากกว่าเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ที่จะกำหนดผ่านเกณฑ์ของ กผส.ซึ่งการกำหนดเรื่องเกณฑ์ความยากไร้ ทำให้เกิดความชัดเจนและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
สำหรับบทเฉพาะกาลจะมีผลตลอดไปในการคุ้มครองคนที่ได้รับสิทธิอยู่แล้ว ส่วนรายใหม่ก็จะมีการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุชุดใหม่ เรื่องนี้ไม่มีใครลักไก่ใครได้ เพราะทุกฝ่ายกำลังติดตามเรื่องนี้
“รัฐบาลจะให้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมเป็นแนวนโยบายของแต่ละรัฐบาล เหมือนกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี แต่หากรัฐบาลบอกว่าสำคัญให้เพิ่มเป็น 15 ปีก็เพิ่มได้ขึ้นกับมีเงินหรือไม่ ซึ่งต้องถามว่าหากมีรายได้มากควรจะรับเงินผู้สูงอายุหรือไม่ หรือจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ยากไร้”
- “สันติ”ยันคลังมีเงินเพียงพอ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ล่าสุดไม่มีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ โดยมีเพียงนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนกรณีการปรับปรุงเงื่อนไขสิทธิการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุนั้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่างคนชราเดิมที่ได้รับสิทธิกับคนชราคนใหม่ที่ไม่ได้รับสิทธิ อีกทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์การกำหนดว่าคนรวยต้องรวยระดับเท่าใด ที่จะไม่ได้รับสิทธิและคนจนเท่าใดจึงจะได้รับสิทธิ ซึ่งการแจกเบี้ยคนชราจะแตกต่างจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่กำหนดว่าครอบครัวต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 1 แสนบาท และทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ ที่ดินรถยนต์ เป็นต้น
“เรื่องนี้ต้องสอบถามรายละเอียดจากกระทรวงมหาดไทย และพม. ส่วนกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดหาเงินให้ส่วนราชการตามความที่กำหนด และขอยืนยันอีกครั้งว่ากระทรวงการคลัง มีเงิน ฐานะการเงินแข็งแกร่ง เพียงแต่ต้องใช้เงินให้เป็นเท่านั้น”
- ปี67ตั้งงบประมาณ9หมื่นล้าน
นอกจากนี้ การแจกเบี้ยคนชรา กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ในการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนที่ได้รับสิทธิเบี้ยคนชราตามเงื่อนไขที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ส่งรายชื่อมาเท่านั้น โดยปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ โอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับสิทธิเบี้ยคนชราโดยตรง และจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดจ่ายทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน
สำหรับรูปแบบการจ่ายเป็นการจ่ายถ้วนหน้าแบบขั้นบันได หรือจ่ายทุกคนที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป โดยอายุ 60-69 ปี จ่าย 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี จ่าย 700 บาทต่อเดือน , อายุ 80-89 ปี จ่าย 800 บาทต่อเดือน และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป จ่าย 1,000 บาทต่อเดือน
รวมทั้งปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ 11.20 ล้านคน มียอดเบิกจ่าย ณ เดือน ก.ค.2566 รวม 71,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณไว้ 90,000 ล้านบาท