เช็คเส้นทาง ‘ไฮสปีดไทย - จีน’ ก่อนเปิดบริการปี 2570
การรถไฟฯ วางไทม์ไลน์ปี 2570 เตรียมเปิดทดลองให้บริการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - โคราช เชื่อมการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้บริการ 6 สถานี
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 โดยโครงการดังกล่าวปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
- ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา สถานะปัจจุบัน มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 1.37 กิโลเมตร คิดเป็น 39.6%
- ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย สถานะปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ เตรียมเสนอ ครม.ใหม่พิจารณาอนุมัติ
สำหรับไฮสปีดเทรนช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ปัจจุบันมีการเริ่มการก่อสร้างไปแล้ว ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 179,412.21 ล้านบาท ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับ 181.9 กิโลเมตร ระดับพื้น 64 กิโลเมตร และอุโมงค์ 6.4 กิโลเมตร โดยมีสถานีให้บริการแบ่งเป็น 6 สถานี เชื่อมจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ประกอบด้วย
- สถานีกลางบางซื่อ
- สถานีดอนเมือง
- สถานีอยุธยา
- สถานีสระบุรี
- สถานีปากช่อง
- สถานีนครราชสีมา
โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพบว่าสถานะงานก่อสร้างปัจจุบันคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแล้วเสร็จ และกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานภายในปี 2570
โดยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เผยถึงความคืบหน้าของงานก่อสร้างโครงการนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาทั้งสิ้น 14 สัญญา แบ่งเป็น
- ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา
- อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา
- อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา
- ยังไม่ลงนาม 2 สัญญา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการพบปัญหาอุปสรรค ดังนี้
1. การรังวัดที่ดิน สำหรับที่ดินที่ได้รับการเวนคืน มีความล่าช้าเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รังวัดไม่เพียงพอ
2. กรณีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก สถานีอยุธยา ของสัญญางานโยธา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างศึกษารายงาน HIA และคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ได้อนุมัติการจัดจ้างให้มีการก่อสร้างในส่วนของงานรางก่อน และจะก่อสร้างสถานี ขณะนี้ ร.ฟ.ท. นำส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนลงนามในสัญญาต่อไป
3. การขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากระดับดิน มาเป็นยกระดับ ของสัญญา 3-4 และ 3-5 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการออกแบบรายละเอียดใหม่ พร้อมทั้งต้องขอปรับปรุงรายงาน EIA
4. งานโยธาทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกชน หรือ ร.ฟ.ท. จะเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งหาก ร.ฟ.ท. เป็นผู้ก่อสร้าง จะต้องก่อสร้างเพื่อรองรับความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากก่อสร้างล่าช้า จะส่งผลต่อภาพรวมโครงการ