‘ดับลิวเอชเอ’ ใช้เอไอหนุน 4 ธุรกิจหลัก เดินหน้าองค์กรขับเคลื่อนด้วยดาต้า
“WHA” เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี ใช้บิ๊กดาต้าขับเคลื่อนองค์กร มุ่งใช้เอไอเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน หนุน 4 ธุรกิจหลัก ต่อยอดธุรกิจใหม่ หวังรัฐบาลใหม่เร่งปรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค หนุนสร้างอีโคซิสเต็มประเทศ และบ่มเพาะทาเล้นท์ยุคใหม่
“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดเวทีสัมมนาหัวข้อ "AI Revolution...AI : เปลี่ยนโลกธุรกิจ" เพื่อถ่ายทอดให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททุกความเคลื่อนไหวและให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ที่จะเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในหัวข้อ “AI: เปลี่ยนโลกธุรกิจ” ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ศึกษากันมานานมากกว่า 70 ปีแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ที่เรารู้สึกว่ามันกำลังเกิดขึ้นเร็วมากเป็นเพราะตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาถือเป็นจุดทวีคูณของยุคเทคโนโลยี โดยเอไอเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นในปีนี้เพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับเรื่องใกล้ตัวได้มากขึ้น อาทิ ChatGPT
“ปัจจุบันยังเป็นเรื่องถกเถียงกันว่าเอไอจะมาแทนที่คน หรือคนที่ใช้เอไอไม่เป็นจะโดนแทนที่ เมื่อโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากมองด้วยความกลัว อนาคตอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด ขณะเดียวกันถ้าเราเข้าใจมัน และเรียนรู้ อนาคตก็จะดีขึ้นกว่าที่คิดได้”
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นการที่บริษัทจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มองว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่แค่กับบริษัท แต่รวมถึงหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ดังนั้นตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาบริษัทจึงกำหนดภารกิจ Mission to The Sun ให้ทุกกลุ่มธุรกิจทรานส์ฟอร์มไปสู่เทคโนโลยีคอมปานี จนในปัจจุบันดับบลิวเอชเอได้ขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญกับ “คน” การเปลี่ยนมายเซ็ตหรือวิธีคิดของคนในองค์กรในการเข้าใจเทคโนโลยี ถ้าคนไม่พร้อมไม่ยอมรับต่อให้มีที่ปรึกษาธุนกิจระดับโลกแนะนำก็ขับเคลื่อนองค์กรไปต่อไม่ได้
โดยใน 4 ธุรกิจของดับบลิวเอชเอมีภารกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยี ได้แก่ ด้านกรีนโลจิสติกส์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่ง โดยสร้างแพลตฟอร์มและโปรแกรมในการควบคุมการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเวลาในการใช้สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ทำให้ในภาพรวมจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมด
ด้านนิคมอุตสาหกรรม สร้างแพลตฟอร์มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ให้ของเสียและของเหลือใช้อีกที่หนึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรให้อีกที่หนึ่ง รวมทั้งยังมีการจัดการระบบจราจรภายในพื้นที่นิคมฯ ด้วยเอไออีกด้วย
ด้านยูทิลิตี้และพลังงาน การบริหารและติดตั้งโซลาร์รูฟ และการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของลูกค้า รวมทั้งเรื่องการใช้งานน้ำ
ด้านดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลที่ดับบลิวเอชเอจัดเก็บได้จากกลุ่มธุรกิจอื่น โดยที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาคนในองค์กรให้เข้าใจเรื่องการใช้งานเทคโนโลยี
นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีที่เราพูดถึงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐบาล โดยเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งทำคือการแก้ไขกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่ล้าสมัย สนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอีโอซิสเต็มให้พร้อม รวมทั้งการบ่มเพาะทาเลนท์ โดยการให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านเอไอตั้งแต่ในวัยปฐมเหมือนกับที่จีน
“ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นทำให้นักลงทุนสนใจภูมิภาคเรา ดังนั้นไทยจะต้องเร่งให้ความสำคัญ การสนับสนุนสิทธิโยชน์การลงทุน การขับเคลื่อน FTA รวมทั้งการกำหนดจุดยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องแรงงานทักษะดิจิทัล”