ไฮสปีดไทยจีนเปิดตามแผนปี 70 ขีดเส้น ต.ค.นี้เคาะ 'ซีพี' ลงทุนโครงสร้างร่วม

ไฮสปีดไทยจีนเปิดตามแผนปี 70 ขีดเส้น ต.ค.นี้เคาะ 'ซีพี' ลงทุนโครงสร้างร่วม

การรถไฟฯ เร่งสางปมไฮสปีดไทยจีน หวังเปิดบริการตามแผนปี 2570 ขีดเส้น ต.ค.นี้ เคาะปม “ซีพี” ลงทุนโครงสร้างร่วมไฮสปีดช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ยันหากไร้ข้อสรุปจ่อลงทุนเองกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่งานสถานีอยุธยา ลุ้นกรมศิลปากรไฟเขียว

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย โดยระบุว่า ปัจจุบันความคืบหน้างานก่อสร้างไฮสปีดเทรนระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา อยู่ที่ประมาณ 24% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่งานก่อสร้าง รวมทั้งขนส่งวัสดุอุปกรณ์ได้

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดในโครงการนี้รวมจำนวน 14 สัญญา ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างอีก 1 สัญญา และยังไม่ลงนามอีก 2 สัญญา โดยโครงการที่ยังรอการลงนามนั้น ประกอบด้วย

สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยสถานะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาของไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เพื่อดำเนินการลงทุนช่วงโครงสร้างร่วมของสองโครงการนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างร่วมและหลังจากนั้น ร.ฟ.ท.จึงจะทยอยจ่ายค่างานโยธาในภายหลัง เพื่อให้ทั้งสองโครงการเดินหน้าคู่ขนานกัน

ร.ฟ.ท.สร้างเองหากคุยซีพีไร้ข้อยุติ

โดยปัจจุบันการเจรจายังไม่มีข้อยุติ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินว่าหากท้ายที่สุดการเจรจายังหาข้อสรุปไม่ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะดำเนินการ คือ นำโครงสร้างทางร่วมของโครงการรถไฟไทย - จีน มาดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการรถไฟไทย - จีน ต้องล่าช้ากว่าแผนที่ปัจจุบันกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570 โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะรอความชัดเจนของการเจรจาร่วมกับเอกชนในปัญหาโครงสร้างร่วมให้ได้ข้อยุติภายในเดือน ต.ค.นี้

“ภาพรวมของโครงการรถไฟไทยจีนตอนนี้ก็ยอมรับว่าดีเลย์ แต่ด้วยหลายสาเหตุปัจจัยหลักคือการแพร่ระบาดขอโรคโควิด-19 ซึ่งความพยายามตอนนี้ในการแก้ปัญหาโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เราก็มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ทั้งการรถไฟฯ สกพอ. และเอกชนโดยเอเชีย เอรา วัน มาตลอด ถ้าได้ความชัดเจนภายใน ต.ค.นี้ ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการส่วนนี้ได้ และไม่กระทบแผนเปิดให้บริการ”

นายนิรุฒ ยังกล่าวด้วยว่า ร.ฟ.ท.ประเมินสถานการณ์หากการเจรจาร่วม 3 ฝ่ายไม่เป็นผล โดยเอเชีย เอรา วัน ไม่สามารถรับข้อตกลงก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ – ดอนเมืองภายในเดือน ต.ค.นี้ ก็จะต้องนำโครงการส่วนดังกล่าวกลับมาให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีความพร้อมในงบประมาณลงทุนอยู่แล้วราว 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากงานโยธาช่วงดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติงบประมาณจาก ครม.มาก่อนหน้านี้แล้ว

ไฮสปีดไทยจีนเปิดตามแผนปี 70 ขีดเส้น ต.ค.นี้เคาะ \'ซีพี\' ลงทุนโครงสร้างร่วม

แจ้งครม.หากต้องปรับเปลี่ยนแผน

ทั้งนี้ หากปัญหาโครงสร้างร่วมของสองโครงการไฮสปีดเทรนต้องถูกปรับเปลี่ยนจากการมอบให้เอเชีย เอรา วัน เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และจำเป็นต้องนำกลับมาให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการ ก็จะขัดต่อมติ ครม.เดิมที่อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นกระบวนการมีความจำเป็นต้องรายงานไปยัง ครม.เพื่อขอรับความเห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.กลับมาดำเนินการลงทุน หลังจากนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลจัดหาผู้รับเหมา ซึ่งคาดว่าหากเป็นแนวทางนี้จะใช้เวลาดำเนินการนานกว่าการมอบหมายเอกชนก่อสร้าง

“ปลายทางของการแก้ไขปัญหาโครงสร้างร่วม คือ การรถไฟฯ เป็นผู้ลงทุนเอง แต่ต้องยอมรับว่าทางเลือกนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการมากกว่า หากเทียบกับเอเชีย เอรา วัน เป็นผู้ก่อสร้าง เพราะเป็นมติ ครม.ที่สามารถลงทุนทำได้เลย โดยหากท้ายที่สุดสามารถเจรจากับเอกชนยอมรับและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองจะเป็นประโยชน์มากกว่า”

นายนิรุฒ ยังเปิดเผยถึงปัญหาสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก บริเวณสถานีอยุธยา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญาก่อนลงนามจ้างเอกชนเริ่มงานก่อสร้าง แต่ขณะเดียวกันต้องรอผลการพิจารณาจากกรมศิลปการเรื่องผลกระทบมรดกโลกด้วย เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ประเมินทางออกว่าหากไม่สามารถสร้างสถานีอยุธยาได้ จะดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน เพื่อไม่ให้ปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยาส่งผลกระทบต่อภาพรวมเปิดให้บริการ