รัฐบาลใหม่ต้องคิดถึงบ้านเมืองให้มาก | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้ว หลังที่ประชุมร่วมสองสภาลงคะแนนเลือกคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รายการ CEO Vision FM 96.5 ได้ขอความเห็นผมเกี่ยวกับฉากทัศน์ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่เรื่องเศรษฐกิจว่าจะฟื้นหรือไม่
และอะไรจะเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่จะกระทบเศรษฐกิจ วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
การได้นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศถือว่าเป็นข่าวดี เพราะเศรษฐกิจและประชาชนรอเรื่องนี้มานานกว่า 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นปรับขึ้นตอบรับข่าว
ขณะที่ภาคธุรกิจมองว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาทํางานน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการฟื้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมี รวมถึงเป็นโอกาสให้พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลได้ทําตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
แต่ที่ต้องตระหนักคือ สถานการณ์เศรษฐกิจ ของประเทศขณะนี้ได้เปลี่ยนไปมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับก่อนเลือกตั้ง ทําให้ภาระการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะยากกว่าเดิม
ที่สำคัญการคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป โดยประชาชนมีความต้องการชัดเจนกับสิ่งที่รัฐบาลควรทําเพื่อแก้เศรษฐกิจ นั้นคือยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้น ทำให้งานแก้เศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะไม่ง่ายและจะท้าทายกว่าเดิม
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ประเด็นแรก เศรษฐกิจขณะนี้อ่อนแอลงกว่าที่เข้าใจกันหลังเลือกตั้ง ชัดเจนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ลดลงจากร้อยละ 2.7 ไตรมาส 1 และโตเพียงร้อยละ 0.2 จากไตรมาส 1
แรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 13 ล้านคนช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งช่วยให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขยายตัวดีตามไปด้วย
แต่ส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก การนำเข้า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ล้วนชะลอลง ที่สําคัญอัตราเงินเฟ้อที่ตํ่ามากเฉลี่ยร้อยละ 0.4 สามเดือนล่าสุด ทั้งที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาเงินเฟ้อ ชี้ชัดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราขณะนี้อ่อนแอและกระจายเป็นวงกว้าง
สาเหตุความอ่อนแอมาจาก
1. กําลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศยังอ่อนแอ ไม่มีรายได้พอที่จะใช้จ่ายในขนาดที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอและความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของประเทศที่ลดลง ทําให้การส่งออกปีนี้ไม่โต ขยายตัวติดลบตลอด 6 เดือนแรก ไม่มีบทบาทในการฟื้นเศรษฐกิจ
3. บทบาทภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เริ่มมีข้อจำกัด สังเกตได้จากรัฐบาลเก็บภาษีมากกว่าใช้จ่ายช่วงไตรมาส 2 ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐเหมือนแต่ก่อน นี่คือสามสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง
ประเด็นที่สอง ที่เปลี่ยนไปคือ เศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มชะลอลงและอาจแย่ลงมากขึ้นแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดูดีขึ้น เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นพลังสำคัญของเศรษฐกิจโลกอาจลากยาวและรุนแรงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจจีนเป็นผลจากความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2564 และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่สูง
ทั้งสองปัญหากระทบความเชื่อมั่นและความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ทั้งสองปัญหายังไม่มีการแก้ไข ทำให้การใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชนเสียโมเมนตัมและเศรษฐกิจจีนชะลอ
ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในจีนติดลบร้อยละ 0.3 ชี้ถึงความลึกของปัญหาและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย กรณีจีนเมื่อรวมกับความอ่อนแอที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นมีขณะนี้ ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศเราทั้งในปีนี้และปีหน้า
ประเด็นที่สาม ที่เปลี่ยนไปคือ ข้อจำกัดทางนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้การใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประชาชนต้องการเห็นภาครัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างมากขึ้น
โดยเพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาด เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ โอกาสเข้าถึงสินเชื่อและสร้างรายได้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและถาวร ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจหรือแจกเงินเป็นครั้งคราว
ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ใช้การอัดฉีดเงินให้ประชาชนที่เดือดร้อน และ/หรือที่เป็นกลุ่มเป้าหมายผ่านระบบราชการ เป็นวิธีแก้ปัญหามาตลอดโดยใช้งบของหน่วยงานหรืองบกลางหรือการกู้เงิน ซึ่งเป็นรูปแบบของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
และผลทางเศรษฐกิจก็ออกมาชัดเจนว่า ไม่ใช่เป็นวิธีที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเงินส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อการบริโภคไม่ใช่เพื่อการสร้างรายได้ ทําให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น แม้รัฐจะใช้ทรัพยากรมากกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เห็น
แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและอัดฉีดเงินในรูปแบบดังกล่าว ปัจจุบันเริ่มมีข้อจำกัดเพราะระดับหนี้สาธารณะของประเทศได้เกิน 60% ของรายได้ประชาชาติไปแล้ว
ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านระบบสถาบันการเงิน โดยให้ประชาชนสร้างหนี้อย่างที่เคยทําในอดีตกับการซื้อบ้านและรถยนต์ปัจจุบันก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 90 ของรายได้ประชาชาติ เทียบกับระดับปลอดภัยต่อเศรษฐกิจที่ร้อยละ 80
ทั้งสองข้อจํากัดนี้ทําให้โมเดลฟื้นเศรษฐกิจโดยการก่อหนี้จะทําได้ยากขึ้นจากนี้ไป และจะไม่ปลอดภัยต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ที่ต้องตระหนักคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะใช้วงเงินมากขนาดไหน จะไม่สามารถทําให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ถ้าปัญหาและข้อจำกัดในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีการแก้ไข
ด้วยเหตุนี้ความน่าจะเป็นมากสุดและสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสะท้อนชัดเจนจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.
นี่คือสามเรื่องที่เปลี่ยนไป ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ข้อจำกัดทางด้านนโยบายและการคาดหวังของประชาชน เป็นบริบทและข้อเท็จจริงที่ควรตีกรอบการทํานโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งในการวางเป้าหมาย วิธีคิด การวิเคราะห์ และการกําหนดทางเลือกทางนโยบาย
ที่ทุกคนหวังคือรัฐบาลใหม่จะตระหนักในบริบท ข้อจำกัดและการคาดหวังเหล่านี้ เลือกนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และให้ความสำคัญกับบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศในการแก้ไขปัญหา
ซึ่งถ้าเกิดขึ้นปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้และความสมานฉันท์ในสังคมก็จะเกิดขึ้นตามมา เป็นสิ่งที่ประชาชนและคนในภาคธุรกิจอยากเห็นเพื่อให้ประเทศเดินหน้า
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล