ยืดเวลาใช้งบฯพลางก่อน เป็น 8 เดือน สำนักงบฯ คาด พรบ.งบฯ 67 ประกาศใช้ พ.ค.ปีหน้า
สำนักงบประมาณขยายเวลาใช้งบไปพลางก่อนหลังสิ้นสุดปีงบประมาณ 67 จาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน หลังได้ ครม.ใหม่เดือน ก.ย. ส่งนายกฯลงนาม ตั้งวงเงิน 1.8 ล้านล้าน คาดไตรมาส 1 – 2 ของปีงบประมาณมีวงเงินเบิกจ่ายลงเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้าน แนะตั้งงบฯเพิ่ม 5 หมื่นล้าน ขาดดุลเพิ่มแต่น้อยกว่าปี 66
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ลงนามในประกาศ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเตรียมที่จะส่งหน่วยงานราชการให้รับทราบในช่วงต้นสัปดาห์หน้า โดยสำนักงบประมาณได้เสนอกรอบระยะเวลาในการขยายระยะเวลาในการใช้จ่ายไปพลางก่อนจาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน คือตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – พ.ค.2567 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณใช้ไปพลางก่อนในช่วง 8 เดือนนี้ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท
โดยหน่วยงานจะต้องส่งรายการที่ต้องใช้เงินมาภายใน 15 ก.ย. 2566 สำนักงบฯ ก็จะอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 66 และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ สามารถเบิกจ่ายได้แต่ไม่เกินกรอบงบประมาณปี 2566
“การขยายระยะเวลาใช้งบไปพลางก่อน จาก 6 เป็น 8 เดือน นั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งในขณะนี้เพิ่งได้นายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้ ครม.ชุดใหม่ สำนักงบฯจึงต้องทำกรอบระยะเวลาไว้ไปจนถึงเดือน พ.ค. แต่หากงบประมาณปี 2567สามารถทำได้เร็วขึ้นก็สามารถยุติงบประมาณไปพลางก่อนได้” นายเฉลิมพล กล่าว
สำหรับขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 นั้นทันทีที่ ครม.ชุดใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาทำงานสำนักงบประมาณจะเสนอปฏิทินงบประมาณปี 2567 ให้ ครม.พิจารณาในการประชุม ครม.ครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 ของการประชุมในรัฐบาลหน้า จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนัดประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ 2567
เสนอขยายงบฯ67 เพิ่ม 5 หมื่นล้าน
เมื่อถามว่าในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณ 2567 จะมีการเสนองบประมาณอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่าคงจะต้องดูรายละเอียดทั้งหมด รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังว่าจัดเก็บได้เพิ่มมากน้อยเท่าไหร่ แต่ถ้าถามตนเองอยากให้วงเงินงบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นสักประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินเดิม 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.4 ล้านล้านบาท
ซึ่งแม้จะมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.93 แสนล้านบาท เพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน เป็นขาดดุลงบประมาณ 6.43 แสนล้านบาท แต่ก็ยังขาดดุลงบประมาณน้อยกว่าในปีงบประมาณ 2566 ที่ขาดดุลฯ 6.95 แสนล้านบาท
วงเงินลงเศรษฐกิจช่วง 6 เดือนหลังสิ้นปีงบประมาณ 1.6 ล้านล้าน
สำหรับวงเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 เดือน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ถึงไตรมาสหนึ่งปี 2567 จะมีเงินวงเงินจากภาครัฐที่สามารถลงสู่ระดับเศรษฐกิจประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท มาจากวงเงินงบประมาณประจำ งบประมาณลงทุนที่มีการผูกพันงบประมาณไว้แล้ว และงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งจากสถิติการเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมาคาดว่าจะมีวงเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท