อสังหาฯในจีนทรุดดึงเศรษฐกิจไทย พาณิชย์จับตากระทบท่องเที่ยว-ส่งออก
สถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน กำลังส่งสัญญาณและส่ออาการน่าเป็นห่วงที่อาจส่งผลต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทย ในหลายด้าน เฉพาะภาคการค้า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย
มีสัดส่วนประมาณ 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจีนย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อไทยอยู่ไม่น้อย
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีขนาดใหญ่จนสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของ GDP จีน ดังนั้นปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์หลังรัฐบาลจีนประกาศกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “Three Red Lines”เพื่อชะลอการเติบโตจนอาจกลายเป็นฟองสบู่ ทำให้ธุรกิจอสังหาฯกู้เงินยากขึ้นบวกกับยอดขายลดลงจากเศรษฐกิจที่เผชิญปัญหาโควิด ทำให้บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Evergrande ซึ่งมีโครงการมากถึง 1,300 แห่งยื่นขอล้มละลาย และคาดว่า Country Garden ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Barclays ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 4.5% เท่านั้น แม้จะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ฐานะทางการเงินของประชาชน กว่า 70% ประชากรที่อยู่ในเขตเมือง นิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไร เมื่อราคาที่อยู่อาศัยลดลงอย่างรวดเร็วจึงเกิดการขาดทุนกันถ้วนหน้า
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สนค. ได้วิเคราะห์ต่อ 2 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ คือ 1. ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนที่ลดลง และส่งผลข้างเคียงมายังเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 11.1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน5.3 แสนล้านบาท แต่ในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยสะสมช่วงครึ่งปีแรกเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น
2. ผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งมีผลกระทบที่ส่งผ่าน 3 ช่องทาง คือ (2.1) ผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว (2.2) ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีเพียงบางรายการ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (เช่น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง) และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 18% และ 29% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก Top 10 ของไทย ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2566 สองสินค้าข้างต้นที่ส่งออกไปจีน หดตัว 20.9% และ 26.9% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย-น้อยมาก เนื่องจากจีนไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก และ (2.3) ผลกระทบโดยอ้อมจากอิทธิพลด้านราคา อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ด้วยเหตุผลที่จีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก จึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า
“ไทยในฐานะเป็น Price taker การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมากกว่าสินค้าอื่น ๆ”
ในด้านมุมมองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย ระบุว่า ปัญหาในตลาดอสังหาฯ ของประเทศจีน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเร่งเปิดขายโครงการใหม่ และการตลาดที่เน้นประชาสัมพันธ์ให้คนซื้อเพื่อการลงทุนมากกว่าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง
สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหา “รัฐบาลจีน” คงปล่อยให้แต่ละบริษัทแก้ปัญหาเอง ไม่เข้าไปยุ่ง แต่คงดูในส่วนของผลกระทบกับประชาชนผู้ซื้อทั่วไปมากกว่า บริษัทต่างๆ ที่มีปัญหาคงต้องขายทรัพย์สินออกมาก่อนเพื่อลดภาระหนี้สิน จากนั้นจึงค่อยหาทางพลิกฟื้นกิจการ หรือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก อาจใช้อธิบายปรากฎการณ์นี้ได้เพราะการล้มละลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่แค่ธุรกิจหนึ่งล้มไปแต่การล้มครืนครั้งนี้ได้ดึงเอาเงินในกระเป๋าชาวจีนจำนวนมากตกลงไปอยู่ในหลุ่มพลางแห่งหนี้สินขนาดมหึมาด้วยนซึ่งอีกด้านของสายเชือกนี้คือเศรษฐกิจคู่ค้าของจีนอย่างไทยที่หากไม่เตรียมตัวตั้งรับให้ดีในหลุมดำทางเศรษฐกิจนี้อาจมีเศรษฐกิจไทยลงไปรวมอยู่ด้วย