ปั๊ม 'เอสโซ่' สิ้นลายเสือ 'บางจาก' ทยอยรีแบรนด์ใน 2 ปี
"บางจาก" ปิดดีล "เอสโซ่" สิ้นลายเสือ ภายหลังเข้าซื้อกิจการ ได้ปั๊มน้ำมันเพิ่มกว่า 700 สถานี มัดรวมสถานีบริการน้ำมันบางจากพุ่ง 2,100 แห่ง ทยอยเปลี่ยนป้ายภายใน 2 ปี เริ่ม 1 ก.ย. 2566 สร้างรายได้ทันที 2,000 ล้าน เดินหน้าธุรกิจสร้างความยั่งยืน
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ตรอกกัปตันบุช หรือในปัจจุบัน คือ ซอยเจริญกรุง 30 ซึ่งในอดีตพื้นที่ตรอกกัปตันบุช เชื่อมไปถึงถนนเจริญกรุง และถนนสี่พระยา เคยเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
บริษัท สแตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ตรอกกัปตันบุชแห่งนี้เมื่อปี 2437 จำหน่ายน้ำมันก๊าด “ตราไก่” และ “ตรานกอินทรี” ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในยุคนั้นสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงของตะเกียง และต่อมานำเข้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับใช้ในเครื่องจักรไอน้ำในโรงสีข้าวมาจำหน่าย โดยเป็นช่วงที่การค้าข้าวของไทยขยายตัวมาก และส่งผลถึงการลงทุนโรงสีขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการส่งออกข้าว และการลงทุนระบบชลประทานที่มีบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนกับคนไทย
การเติบโตทางธุรกิจบริษัท สแตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก จึงเป็นการขยายตัวไปพร้อมกับบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในไทยยุคนั้น
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมใหม่ๆ ถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในไทย เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวไปพร้อมกับเทคโนโลยียานยนต์และเครื่องจักร โดยปี 2470 “น้ำมันโซล่า” หรือ “น้ำมันดีเซล” ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในไทยครั้งแรก
การรับซื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการเมื่อปี 2490 เป็นจุดเปลี่ยนความเคลื่อนไหวทางธุรกิจครั้งสำคัญของการยึดไทยเป็นที่มั่นในการลงทุนธุรกิจน้ำมัน มาถึงการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันในปี 2510 ด้วยการซื้อโรงงานจากบริษัท ยางมะตอยไทย จำกัด เพื่อตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา บนพื้นที่เกือบ 200 ไร่
และต่อมาปี 2519 ได้ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรล ต่อวัน พร้อมทั้งตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ เมื่อปี 2522 โดยได้รับสัมปทาน การสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น
ปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเอสโซ่ เมื่อ2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นการซื้อหุ้นจาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (ExxonMobil) จำนวน 2,283,750,000 หุ้น หรือคิดเป็น 65.99% ของจำนวนหุ่นสามัญที่ออก และจำหน่ายแล้ว
การซื้อหุ้นครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือน ก.ค.2566 และการควบรวมดังกล่าว กชค.กำหนดเงื่อนไขไว้หลายข้อ เช่น เงื่อนไขการเพิ่มหุ้นของหน่วยงานรัฐเพื่อป้องกันภาครัฐเข้ามาควบคุมกิจการน้ำมันที่เป็นธุรกิจเสรี โดยบางจากยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว และไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง
ล่าสุดคู่สัญญาทั้งบางจาก และ ExxonMobil ตกลงเกี่ยวกับราคาซื้อขายสุดท้ายสำเร็จเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 โดยมูลค่าการซื้อหุ้นสามัญของเอสโซ่ จำนวน 65.99% คิดเป็น 22,605 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคา 9.8986 บาทต่อหุ้น (โดยการปัดเศษทศนิยม 4 ตำแหน่ง) และชำระราคาค่าหุ้นสามัญให้กับผู้ขาย ในวันที่ 31 ส.ค.2566
หลังจากนั้นบางจาก จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมด (Tender Offer) ของ ESSO สัดส่วน 34.01% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จำนวน 1,177 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.8986 บาท มูลค่ารวม 11,651 ล้านบาท ระยะเวลาทำคำเสนอซื้อวันที่ 8 ก.ย.2566 ถึงวันที่ 12 ต.ค.2566
สำหรับการซื้อหุ้นครั้งนี้จะทำให้เอสโซ่ได้สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ดังนี้
1.ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน จะมีจำนวนปั๊มรวม 2,145 แห่ง แบ่งเป็นของบางจาก 1,343 แห่ง และเอสโซ่ 802 แห่ง และเมื่อรวมกันจะทำให้มีส่วนปั๊มน้ำมัน 7.7% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 21.4% แบ่งเป็นบางจาก 10.9% และเอสโซ่ 10.5%
2.ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน กรณีมีการควบรวมจะทำให้มีกำลังการกลั่นรวม 297,000 บาร์เรล/วัน แบ่งเป็นเอสโซ่ 177,000 บาร์เรล/วัน และบางจาก 120,000 บาร์เรล/วัน โดยถ้าพิจารณารายบริษัทจะทำให้กลุ่มบางจาก และเอสโซ่มีกำลังการผลิตขึ้นมาอันดับ 1 แต่ถ้านำกำลังการกลั่นของกลุ่ม ปตท.มารวมกัน (ไทยออยล์ , ไออาร์พีซี , จีซี) จะทำให้กลุ่มบางจาก และเอสโซ่อยู่อันดับ 2
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นเอสโซ่เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566 ว่า จะใช้เวลารีแบรนด์สถานีบริการน้ำมันในชื่อเอสโซ่ราว 802 แห่ง ภายใน 2 ปี
“หมายความว่าบางจาก พร้อมที่จะเริ่มรีแบรนด์ปั๊มเอสโซ่ภายหลังทำธุรกรรมเสร็จ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ บางจากยังมั่นใจว่า การซื้อหุ้นเอสโซ่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และมีรายได้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นระดับ 1,500-2,000 ล้านบาทในทันที อีกทั้ง สินทรัพย์ของเอสโซ่ที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง จะทำให้บางจาก มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง สามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น จัดหาน้ำมันดิบได้หลากหลายขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์ในเรื่องของเทคโนโลยีการกลั่นที่เสริมกันของโรงกลั่นทั้งสอง และการให้บริการด้านการตลาดที่ครอบคลุม และนำเสนอบริการให้กับลูกค้าได้ยิ่งขึ้นผ่านสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ
รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มพูนทักษะพนักงานในองค์กร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์