สศช.ชี้แจกเงินหมื่นบาทต้องดูภาระคลัง

สศช.ชี้แจกเงินหมื่นบาทต้องดูภาระคลัง

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ กล่าวถึงมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องไปดูวิธีการและรายละเอียดที่ชัดเจนก่อน ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ต้องดูภาระการคลังที่มีด้วย

สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ 91.4% หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของไตรมาสก่อน สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตราการว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5%