เปิดเกณฑ์-เงื่อนไข งบประมาณ 'ไปพลางก่อน66' 1.8 ล้านล้าน รับงบ 67 ล่าช้า 8 เดือน

เปิดเกณฑ์-เงื่อนไข งบประมาณ 'ไปพลางก่อน66'  1.8 ล้านล้าน รับงบ 67 ล่าช้า 8 เดือน

สำนักงบฯคลอดเกณฑ์ - เงื่อนไขงบฯไปพลางก่อน 66 รับการจัดทำงบประมาณล่าช้า 8 เดือน หลังตั้งรัฐบาลช้าการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบฯ67 อาจยาวถึงไตรมาส 2 ปีหน้า วงเงิน 1.8 ล้านล้าน วางเงื่อนไขห้ามตั้งงบฯเกินกรอบปี 66 ไม่รับบุคลากรใหม่ เดินทางตปท.ต้องทำความตกลงกับสำนักงบฯก่อน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสำนักงบประมาณได้เผยแพร่สาระสำคัญวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน โดยก่อนหน้านี้ นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ลงนามในประกาศ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 โดยสำนักงบประมาณได้เสนอกรอบระยะเวลาในการขยายระยะเวลาในการใช้จ่ายไปพลางก่อนจาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน คือตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – พ.ค.2567 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณใช้ไปพลางก่อนในช่วง 8 เดือนนี้ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท โดยหน่วยงานจะต้องส่งรายการที่ต้องใช้เงินมาภายใน 15 ก.ย. 2566 สำนักงบฯ ก็จะอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 66 และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ สามารถเบิกจ่ายได้แต่ไม่เกินกรอบงบประมาณปี 2566

ทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เนื่องด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.2566 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

เปิดเกณฑ์-เงื่อนไข งบประมาณ \'ไปพลางก่อน66\'  1.8 ล้านล้าน รับงบ 67 ล่าช้า 8 เดือน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา12 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรีจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนไว้ดังต่อไปนี้

1.การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายใต้กรอบวงเงินของแผนงานและรายการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย

2.การอนุมัติเงินจัดสรร

1)ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายใต้กรอบวงเงินของแต่ละแผนงานและรายการตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย ดังนี้

  • งบประมาณรายจ่ายงบกลาง
  • งบประมาณร้ายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
  •  งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร
  • งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน
  • งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ

ทั้งนี้ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เฉพาะเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1ต.ค. 2566 - 31 พ.ค. 2567) เว้นแต่รายจ่ายประจำที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพันสิบสองเดือน ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ต้องดำเนินการจริง โดยจำแนกเป็นรายเดือนส่งให้สำนักงบประมาณ อย่างข้าภายในวันที่15 ก.ย. 2566

การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้ดำเนินการ ดังนี้

 

- หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566ให้จัดทำแผนภายในวงเงินไม่เกินสองในสามของแต่ละแผนงานและรายการ (งบประมาณรายจ่ายงบกลาง) ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566

รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ

- หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และมีงบประมาณรายจ่ายที่รับโอนมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่นในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้จัดทำแผนเต็มตามจำนวนงบประมาณรายจ่ายของแต่ละแผนงานที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรณีที่วงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้แจ้งจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ของแต่ละแผนงานให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเป็นรายกรณีจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

- การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณใช้ผลผลิตหรือโครงการเดิมในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แต่อาจปรับปรุงวิธีดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงแนวทางดำเนินการและ งบประมาณรายจ่ายที่ขอรับเงินจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2567ด้วย ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

- ไม่จัดทำแผนสำหรับผลผลิตหรือโครงการ ที่สิ้นสุดลงแล้วในปีงบประมาณพ.ศ.2566

- ไม่จัดทำแผนสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นการผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุดซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการ

- ค่าใช้จ่ายในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย

- ค่าใช้จ่ายในแผนงานพื้นฐาน และแผนงานยุทธศาสตร์ ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ให้พิจารณาความจำเป็นตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ

- ค่าใช้จ่ายในแผนงานบูรณาการ ให้จัดทำแผนเท่าที่จำเป็นเพื่อใช้ปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องจากโครงการ/งาน ที่ดำเนินการไว้แล้ว หรือที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วก่อนปีงบประมาณพ.ศ.2567 รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และ ค่าใช้จ่ายในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น

 

2)หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และมีงบประมาณรายจ่ายที่รับโอนมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรได้เต็มตามจำนวนงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงานตามที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566

กรณีที่งบประมาณรายจ่ายที่ได้รับโอนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไม่เพียงพอกับความจำเป็นในการดำเนินงาน สำนักงบประมาณอาจจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้

3.การบริหารงบประมาณรายจ่าย

1)ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เมื่อได้รับความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว

2)การโอนงบประมาณรายจ่าย การโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรให้กระทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ พัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นหรือความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชน ความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการให้บริการกระทรวง

ส่วนการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเพื่อการปรับปรุงเป้าหมายหรือตัวชี้วัดของแผนงาน ผลผลิต หรือโครงการ หรือกรณีที่ ครม.หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีนโยบายใหม่ ซึ่งหน่วยรับงบประมาณต้องปรับปรุงเป้าหมายของแผนงาน ผลผลิต หรือโครงการ ให้สอดคล้องกับนโยบายนั้น

4. การติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ โดยให้มีการติดตามและประเมินผลก่อนการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างการใช้จ่ายงบประมาณ และภายหลังการใช้จ่ายงบประมาณ

5.การหักงบประมาณรายจ่ายงบประมาณรายจ่ายที่สำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งต้องหักออกจากแผนงานและรายการในงบประมาณรายจ่ายงบกลาง งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ งบประมาณรายจ่ายบุคลากร งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน และงบประมาณรายจ่าย เพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ แล้วแต่กรณี เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับแล้ว

6.วิธีปฏิบัติในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย การติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ และการหักงบประมาณรายจ่าย ให้เป็นไปตามที่สำนักงบประมาณกำหนด

7.ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้

 

นอกจากนี้ยังมีวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อนตามที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรีแล้วที่น่าสนใจในประเด็นอื่นๆเช่น

การใช้งบประมาณรายจ่ายตามที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร การโอนงบประมาณรายจ่าย

การโอนเงินจัดสรร หรือการเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1) ไม่เป็นการกำหนดอัตราบุคลากรอัตราใหม่

(2) ไม่ก่อให้เกิดรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ

(3) กรณีเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการต่างประเทศ ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณก่อน

(4) งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่อหน่วย ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท และค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่อหน่วยต่ำกว่าสิบล้านบาท ให้ใช้จ่ายตามรายการ

ที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรการโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรจากรายการตามวรรคหนึ่งหรือจากรายการอื่นมาสมทบ หรือกำหนดเป็นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติสำนักงบประมาณก่อน

กรณีหน่วยรับงบประมาณมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ได้เฉพาะกรณี ดังนี้

(5) มีความจำเป็นต้องจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

(6) ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

(7) มีความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน